นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ จะไม่มีผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ปรับขึ้นทันที เนื่องจากบุหรี่ที่ขายในท้องตลาดขณะนี้เป็นสต็อกเก่าที่เสียภาษีในอัตราเดิม จึง “ไม่มีสิทธิ” ที่จะขายปลีกในราคาใหม่ โดยบริษัทบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศ จะต้องเร่งส่งโครงสร้างต้นทุนและราคาขายปลีกแนะนำมาให้กรมฯ พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จึงจะสามารถปรับราคาขายปลีกบุหรี่ใหม่ได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบจัดเก็บภาษีตามมูลค่า 2 อัตรา คือ 20% และ 40% ของราคาขายปลีกแนะนำซองละไม่เกิน 60 บาท และที่เกิน 60 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน โดยในวันที่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป จะจัดเก็บภาษีตามมูลค่าอัตราเดียว คือ 40% และภาษีตามปริมาณ 1.20 บาทต่อมวน และยาเส้นจะมีอัตราภาษีตามมูลค่า 0% และภาษีตามปริมาณ 0.10 บาทต่อกรัม
แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมยาสูบโดยเฉพาะเกษตรกรผู้เพาะปลูกใบยาสูบ ดังนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเยียวยาจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว และให้มีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับกับโครงสร้างภาษีบุหรี่ซิกาแรตตามมูลค่าแบบอัตราเดียวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบใหม่ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. อัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรต จัดเก็บภาษีตามมูลค่า 25% ของราคาขายปลีกแนะนำ ซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% ของราคาขายปลีกแนะนำที่เกินซองละ 72 บาท และจัดเก็บภาษีตามปริมาณ 1.25 บาทต่อมวน
2. อัตราภาษียาเส้นที่มีปริมาณการผลิตไม่เกิน 12,000 กิโลกรัมต่อปี จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.025 บาทต่อกรัม และยาเส้นที่มีปริมาณการผลิตเกิน 12,000 กิโลกรัม จัดเก็บอัตราภาษีตามปริมาณที่ 0.10 บาทต่อกรัม
นายลวรณ กล่าวอีกว่า โครงสร้างภาษีใหม่ดังกล่าวจะช่วยลดการบริโภคยาสูบได้ประมาณ 2-3% และจะช่วยทำให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3.5-4.5 พันล้านบาทต่อปี แต่ยอมรับว่าอาจทำให้มีสินค้ายาสูบหนีภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมสรรพสามิตจะดำเนินการปราบปรามอย่างเข้มงวด โดยจัดตั้งศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์
โดยภายในวันที่ 30 ก.ย. 64 จะส่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตลงพื้นที่ตรวจสอบสต็อกของผู้ค้าบุหรี่ทั่วประเทศ เพื่อดูยอดคงค้างของบุหรี่ที่เสียภาษีในอัตราเดิมว่ายังมีจำหน่ายอีกนานเท่าไร โดยประชาชนที่ซื้อบุหรี่สามารถตรวจสอบด้วยตัวเองได้ว่าบุหรี่ที่ซื้อเสียภาษีในอัตราเดิมหรืออัตราใหม่ โดยใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดบนดวงสแตมป์ ข้อมูลการชำระภาษีก็จะปรากฎขึ้น ซึ่งหากพบว่าบุหรี่ที่ซื้อมีการเสียภาษีก่อนวันที่ 1 ต.ค. 64 แต่มีการขายในราคาของอัตราภาษีใหม่ ให้ประชาชนสามารถแจ้งไปที่สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ หรือสายด่วนสรรพสามิต 1713 โดยกรมฯ ก็จะเข้าไปประเมินภาษีต่อไป
สำหรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับจุดตัดราคาจาก 60 บาท เป็น 72 บาทนั้น เนื่องจากกรมฯ เห็นว่าจุดตัดราคาเดิมขายไม่มีกำไร โดยเชื่อว่าจุดตัดราคา 72 บาท จะเป็นช่วงราคาที่สามารถกำหนดราคาขายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละบริษัทบุหรี่ ซึ่งกรมฯ คงตอบในเรื่องราคาขายแทนบริษัทไม่ได้ เพราะบริษัทก็มีอิสระในการกำหนดราคาขายมากขึ้น โดยในส่วนของภาษีใหม่ จะส่งผลให้ต้นทุนภาระภาษีต่อซองเพิ่มขึ้น 4-5 บาท ซึ่งถ้าบวกกำไรแล้ว จะส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ขยับสูงขึ้น ก็เชื่อว่าจะส่งผลให้อัตราการบริโภคบุหรี่ลดลง
“ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ อัตราภาษีก็จะปรับเพิ่มเป็นอัตราเดียวที่ 40% ซึ่งคลังประเมินว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ คนต้องต่อสู้กับโควิด-19 กำลังซื้อยังไม่เข้มแข็งพอ ก็จะเป็นการซ้ำเติม จึงต้องปรับในอัตราที่เหมาะสม โดย ครม. ได้ให้นโยบายว่าโครงสร้างภาษีบุหรี่ในอนาคต ควรจะเป็นอัตราเดียว ได้มอบการบ้านให้กระทรวงคลังและกรมฯ ว่าช่วงไหนเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะมุ่งสู่อัตราเดียว”
นายลวรณ กล่าว
ทั้งนี้ หากพบว่ามีการจำหน่ายเกินราคา ในส่วนของร้านค้าปลีกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะมีกฎหมายเข้าไปดูแล ด้านกรมฯ หากตรวจพบก็จะมีการตักเตือน และถ้ายังฝ่าฝืนขายเกินราคาอยู่ก็จะมีการพักใช้ใบอนุญาต จนถึงขั้นสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการ กรมฯ จะมีอำนาจตามกฎหมายสรรพสามิต มาตรา 86 (2) เข้าไปกำหนดโทษทั้งในส่วนของค่าปรับ 2 เท่า และเงินเพิ่ม 7.5%
อย่างไรก็ดี กรมฯ มีการคำนวณว่าอัตราภาษีใหม่จะส่งผลให้ราคาบุหรี่ปรับเพิ่มขึ้น โดยบุหรี่ที่ขายเต็มเพดานภาษีใหม่ที่ 72 บาท เสียภาษีอัตรา 25% จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อมวน ขณะที่บุหรี่ที่เสียภาษีอัตรา 42% และจำหน่ายราคา 160 บาทต่อซอง จะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น 6-7 บาทต่อมวน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)
Tags: กรมสรรพสามิต, กระทรวงการคลัง, บุหรี่, ภาษีบุหรี่, ภาษีสรรพสามิต, ลวรณ แสงสนิท