พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา กทม.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ที่เป็นลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมขอให้หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วมได้ โดยจากการสำรวจมีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วม 11 ชุมชน จำนวน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ได้แก่ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน จึงขอให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูงในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค.64 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในอัตราประมาณ 2,750-2,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดอุทัยธานี (Ct. 19) อยู่ในอัตรา 450 ลบ.ม./วินาที ประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 3,200 ลบ.ม./วินาที
ดังนั้น จึงมอบหมายกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที
ประกอบกับมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพความปลอดภัยและความมั่นคงของเขื่อน จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 900-1,200 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 3,000- 3,200 ลบ.ม./วินาที และส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20- 2.40 เมตร และท้ายเขื่อนพระรามหกเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 – 2.80 เมตร ในช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.64
นอกจากนี้ กทม.ได้ตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำ ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร เรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ ตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง
ในช่วงน้ำทะเลขึ้น จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม แนวกระสอบทราย พร้อมวัสดุอุปกรณ์ และกระสอบทราย เพื่อแก้ไขจุดที่คาดว่าอาจจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ชั้นในอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยา, กอนช., น้ำท่วม, สถานการณ์น้ำ, อัศวิน ขวัญเมือง, อุทกภัย, แม่น้ำเจ้าพระยา