Supply Disruption แนวโน้ม ก.ย.ดีขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในเดือนส.ค. 64 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังลดลง โดยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัวและส่งผลให้การส่งออกของไทยแผ่วลง ขณะที่ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption ทั้งการแพร่ระบาดในโรงงาน และการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตและตู้คอนเทนเนอร์
ขณะที่ ธปท.คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.มีแนวโน้มปรับดีขึ้นบ้างจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากปัญหา supply disruption รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลังอัตราการฉีดวัคซีนทยอยเพิ่มขึ้น
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค. ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนลดลงตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อ ขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงในหลายหมวดตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว หลังการระบาดในต่างประเทศรุนแรงขึ้น
ด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงตามภาวะอุปสงค์ ประกอบกับการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากปัญหา supply disruption สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวทั้งรายจ่ายเงินโอนและรายจ่ายประจำ
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลง และการปรับลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในทุกหมวด โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง แม้มีมาตรการภาครัฐช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน
มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนในหลายสินค้าและหลายตลาด เป็นผลจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศ และปัญหา supply disruption ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การปิดโรงงานชั่วคราวในไทยเพื่อจำกัดการระบาด ปัญหาการขนส่งสินค้า และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน และโลหะ ทั้งนี้ อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอลง ประกอบกับปัญหา supply disruption ในภาคการผลิต ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนในหลายหมวด
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ตามการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การลงทุนด้านการก่อสร้างปรับดีขึ้นบ้าง ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในพื้นที่ก่อสร้าง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน และโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศรุนแรงขึ้น รวมทั้งมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศยังมีอยู่
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง รวมทั้งหมวดสินค้าทุน ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตและการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าในบางหมวดลดลงจากเดือนก่อน อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ลดลงตามการผลิตรถยนต์
การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมเงินโอน การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวได้เล็กน้อย โดยรายจ่ายประจำขยายตัวจากทั้งรายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายลงทุนหดตัวต่อเนื่อง จากผลของฐานสูงที่มีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลกลางในปีก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาติดลบเล็กน้อย จากราคาอาหารสดที่ลดลง โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุปทานล้นตลาด ประกอบกับมีผลของมาตรการลดค่าธรรมเนียมการศึกษาของภาครัฐ ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากกว่าเดือนก่อน ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงจากการส่งออกสินค้าที่แผ่วลงเป็นสำคัญ
น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า การส่งออกสินค้าในเดือนส.ค. ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจของหลายประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงจากปัญหาการกลับมาระบาดของโรคโควิด-19 อีกระลอก รวมทั้งปัจจัยในประเทศจากผลกระทบของปัญหา Supply disruption และการระบาดในโรงงานผลิตสินค้าส่งออก
“เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว สะท้อนมาถึงการส่งออกในเดือนส.ค.ที่แผ่วลง โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ก.ค.) จะลดลง -3.5% แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ส.ค.63) จะลดลงค่อนข้างมาก ที่เห็นได้ชัดคือสินค้าในกลุ่มยานยนต์ จากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปอาเซียนและออสเตรเลีย รวมถึงการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ประสบปัญหา Supply disruption”
น.ส.ชญาวดีระบุ
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้าคู่แข่งส่วนใหญ่ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่รุนแรง รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น รวมทั้งผลจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทในช่วงปลายเดือนส.ค. เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังจากยอดผู้เชื้อโควิดในประเทศเริ่มลดลง และได้เห็นการผ่อนคลายมาตรการของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่ทำให้บาทกลับมาแข็งค่าขึ้น เป็นเพราะดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะยังผ่อนคลายต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีการลด QE แล้ว จึงทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ และเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นในช่วงปลายเดือนส.ค.ต่อเนื่องถึงต้นเดือนก.ย.
อย่างไรก็ดี ในช่วงปลายเดือนก.ย. เงินบาทกลับมาอ่อนค่าเร็วอีกครั้ง เนื่องจากเฟด และธนาคารกลางของประเทศหลักๆ เริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และเงินเฟ้อปรับขึ้น โทนการทำนโยบายจึงค่อนไปทางต้องการจะกลับมาใช้นโยบายที่ตึงตัวมากขึ้น จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร็ว ประกอบกับความกังวลต่อปัญหาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของจีนจากกรณีบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ที่อาจจะลุกลามกลายเป็นความเสี่ยงในเชิงระบบได้
“ปัจจัยหลักที่เข้ามา คือ นโยบายการเงินของประเทศหลักๆ ทั้ง BoE, FED, ECB ที่ทำให้เกิดความผันผวน รวมทั้งความเสี่ยงจากปัญหาสภาพคล่องในจีน ส่วนเราเองก็มีปัจจัยในประเทศรวมด้วย ตอนนี้ปัจจัยมีหลากหลาย ดังนั้นบาทช่วงนี้จึงมีความผันผวนค่อนข้างสูง และที่เงินบาทอ่อนค่าเร็ว เพราะเมื่อวานนี้กรรมการเฟดหลายคนออกมาพูด ส่งสัญญาณมากขึ้น ดอลลาร์จึงแข็ง เป็นปัจจัยของเศรษฐกิจโลก ประเทศคู่ค้าเราก็ได้รับผลเช่นเดียวกัน บาทจึงวิ่งค่อนข้างเร็ว”
น.ส.ชญาวดีกล่าว
พร้อมระบุว่า ธปท.เข้าไปดูแลเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ค่าเงินเกิดความผันผวนหรือเคลื่อนไหวเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด
น.ส.ชญาวดี คาดว่า ในเดือนก.ย.เศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในหลายกิจกรรม หลังภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แต่ยังต้องติดตามปัญหา Supply disruption, ความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า และเชื่อมโยงมาถึงภาคการผลิตและการส่งออกของไทยด้วย
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของไทยขณะนี้ ธปท.ประเมินเบื้องต้นว่า อาจจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจบ้าง แต่ทั้งนี้ภาคอุตสาหกรรมต่างมีบทเรียนจากในอดีตที่ผ่านมา และมีการเตรียมรับมือได้มากขึ้น เพียงแต่อาจเห็นผลกระทบทางอ้อมจากพื้นที่น้ำท่วม เช่น ด้านการขนส่ง ซึ่งโดยรวมก็ถือว่ากระทบไม่มากนัก แต่ธปท.จะติดตามปัจจัยเรื่องน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
น.ส.ชญาวดี ประเมินเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น จากสมมติฐานที่ว่าวัคซีนป้องกันโควิดจะมีการนำเข้ามามากขึ้นในช่วงนี้ และมีการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงน่าจะทำให้ไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ หรือไม่กลับไประบาดรุนแรงและเป็นวงกว้างเหมือนรอบที่ผ่านมา ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนน่าจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ รวมถึงการทยอยเปิดเมืองเพื่อการท่องเที่ยวที่จะค่อยๆ กลับมามากขึ้น ดังนั้น กรณีของวัคซีนในไตรมาส 4 จึงมีบทบาทมากต่อความเชื่อมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ และในปีหน้าวัคซีนจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
“ไตรมาส 4 ก็ยังมีความเสี่ยงในด้านต่ำ เราหวังว่าวัคซีนจะเข้ามาต่อเนื่องตามสมมติฐานที่เรามอง ก็จะช่วยเรื่องการระบาดรอบใหม่ได้ ส่วนเรื่องน้ำท่วม เชื่อว่าผู้ประกอบการเตรียมตัวได้ดีขึ้น และจากที่หารือกับกรมชลประทาน ที่บอกว่าเป็นสถานการณ์น้ำหลาก ซึ่งถ้าบริหารจัดการได้ดี ก็เชื่อว่าจะดูแลสถานการณ์ได้ แม้จะเห็นประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก แต่ก็ยังไม่ใช่ในส่วนของภาคการผลิต ดังนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงยังเทียบกับผลกระทบทางสังคมไม่ได้”
น.ส.ชญาวดีกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)
Tags: ชญาวดี ชัยอนันต์, ธปท., นโยบายการเงิน, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน