รมว.คลัง ย้ำความจำเป็นขยายเพดานหนี้สาธารณะสร้างความยืดหยุ่นดูแลศก.หลังโควิด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีการขยายเพดานหนี้สาธารณะของประเทศไทย เพิ่มเป็น 70% ต่อจีดีพี จากเดิมที่ 60% ต่อจีดีพี ว่า ปี 2563-2564 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก เงินงบประมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอเพื่อใช้ดูแลช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูประชาชนและภาคเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องกู้เงิน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน 2 ปี รวมกันที่ 1.5 ล้านล้านบาท และมีการประเมินว่าการกู้เงินดังกล่าวจะทำให้ยอดหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว

โดยมีการประเมินว่า ณ สิ้น ก.ย.64 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทย จะอยู่ที่ 58.96% ขณะที่ สิ้น ก.ย.65 สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศไทย จะอยู่ที่ 62.69% ซึ่งยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเพดานหนี้สาธารณะของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็ยังต่ำกว่าหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ การกู้เงินของรัฐบาลไม่เพียงใช้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีการกู้เงินเพื่อนำมาลงทุนซึ่งจะช่วยต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวอีกด้วย

“การขยายเพดานหนี้ ก็เพื่อรองรับการกู้เงินเพิ่ม เป็นการเตรียมพร้อมกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อแก้วิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ข้างหน้ายังไม่นิ่ง โควิด-19 ยังไม่จบ ระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังไม่แน่นอน อาจจะเป็น 1 หรือ 2 ปี จึงเป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างจีดีพีให้เพิ่มขึ้น และการขยายเพดานหนี้สาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมาเคยมีทั้งการขยายเพิ่ม และปรับลดเพดานหนี้สาธารณะมาแล้ว” รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำควบคู่ไปด้วย คือการขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ อาทิ ภาษีอีคอมเมิร์ซ และภาษีอีเซอร์วิส ที่จัดเก็บจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ โดยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างประเทศลงทะเบียนแล้วกว่า 90 บริษัท ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของรัฐบาล ซึ่งกฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ต.ค. 2564 รวมถึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชนในการยื่นแบบชำระภาษี โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกรัฐบาลเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่การยื่นแบบดังกล่าวจะช่วยให้รัฐมีฐานข้อมูล ซึ่งเมื่อหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็จะทำให้ได้รับความช่วยเหลือได้ทันที

นายอาคม กล่าวอีกว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ กระทรวงการคลังจะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งจะต่อเนื่องไปจนถึงเทศกาลปีใหม่ และตรุษจีน รวมถึงยังมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การรักษาอัตราการจ้างงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือนายจ้าง โดยเฉพาะในภาคเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องในการรักษาอัตราการจ้างงาน และเม็ดเงินที่จะลงไปยังภาคชนบทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

“ต้องพยุงเศรษฐกิจโดยเฉพาะในไตรมาส 4/2564 และปีหน้าให้ยังสามารถขยายตัวต่อไปไดั จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกมาเพิ่มเติม ส่วนรายละเอียดอย่างให้รอก่อน ขณะที่โครงการที่ดำเนินการอยู่ เช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ ก็อาจจะขยายเวลาให้อีก โครงการที่หลายคนเรียกร้อง อย่างช้อปดีมีคืน หรือโครงการต่าง ๆ นั้น อยากให้รอดูอีกหน่อย ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามดูแลและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ ไม่มีใครอยากเห็นโควิด-19 กลับมาหรือกลายพันธุ์ หากวิกฤติเกิดขึ้นอีก มาตรการด้านสาธารณสุขจะมีความจำเป็นอย่างยิ่ง แต่คงต้องให้สมดุลกับมาตรการด้านเศรษฐกิจด้วย เพราะต้นทุนทางเศรษฐกิจสูง หากต้องใช้มาตรการควบคุม และการเยียวยา เหล่านี้จะเป็นภาระของรัฐบาล ดังนั้นประชาชนต้องมีวินัย แม้ว่าจะเริ่มมีการทยอยคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศหลังจากนี้” นายอาคม กล่าว

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรเศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกู้ของรัฐบาลว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ากระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการกลั่นกรองการใช้เงินในโครงการ และเวลาที่เหมาะสม เร่งกระจายเงินให้ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีรายได้ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนคนที่ยังพอมีรายได้ก็ควรได้รับความช่วยเหลือในรูปแบบที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน โดยหากรัฐบาลใช้จ่ายเงินกู้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะไม่มีผลในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระทบการจัดเก็บรายได้ในอนาคตด้วย

สำหรับการขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้น มองว่าอยู่ในกรอบที่จะดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดช่องในการกู้เงินเพื่อรองรับสถานการณ์เร่งด่วน โดยการขยายเพดานหนี้ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะต้องกู้เต็มเพดาน แต่เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวไม่ถึง 1% ส่วนปีหน้าหากต้องการให้เศรษฐกิจโตถึง 5% นั่นหมายความว่าจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อยู่ในกรอบที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงิน และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะก็จะค่อย ๆ ลดลง

“คนเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ตอนนี้ คือรัฐบาล การขยายเพดานเงินกู้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทุกรัฐบาลและทุกประเทศต้องทำ เพราะเศรษฐกิจขาดแรงกระตุ้น เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิชาการก็เห็นด้วย เพราะเศรษฐกิจแผ่วรัฐก็จัดเก็บรายได้ไม่ได้ ก็เป็นปัญหา ยิ่งเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2565 ต้องการแรงกระตุ้นเพื่อรองรับการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เมื่อรัฐบาลกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนฟื้นตัว เงินรายได้ก็จะทยอยกลับมาในรูปของภาษี รัฐทยอยคืนหนี้ สัดส่วนหนี้ที่สูงก็จะปรับลดลง คลังก็จะค่อย ๆ ถอย พวกนี้เป็นเรื่องของจังหวะทั้งสิ้น” นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนอยากเห็น ได้แก่ การเพิ่มเงินในโครงการคนละครึ่ง และการปัดฝุ่นโครงการช้อปดีมีคืน รวมถึงการเดินหน้าโครงการที่จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดยภาคเอกชนมองว่าโครงการเหล่านี้กระจายความช่วยเหลือไปถึงทุกหย่อมหญ้า

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top