นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ส.ค.64 พบว่า เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ลดลงที่ -35.0% และ -29.2% ต่อปี ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลง -19.0% และ -21.9% ตามลำดับ
สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 39.6 จากระดับ 40.9 ในเดือน ก.ค.64 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ยังคงขยายตัวที่ 12.4% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามมูลค่าการนำเข้าสินค้า นอกจากนี้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ที่ 5.9% ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ลดลงที่ -40.5% ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลง -26.2% สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน -6.8% ต่อปี และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ 5.0 %
ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ -8.3% ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -4.2% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างชะลอตัว อย่างไรก็ดี ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 21.6% ต่อปี
มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 21,976.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ 8.9% ต่อปี และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัว 19.4% ต่อปี โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะ ยางพารา ผักและผลไม้ และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัว 98.8% 84.8% และ 48.4% ต่อปี ตามลำดับ 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในบ้าน อาทิ เตาอบไมโครเวฟ โทรทัศน์และส่วนประกอบ
3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ที่ยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น และ 5) สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 17.8% และ 35.7% ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย จีน อาเซียน-5 และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 44.2% 32.3% 26.9% และ 16.2% ต่อปี ตามลำดับ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ส่งสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวที่ 13.8 %ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าวโพดและหมวดไม้ผล อย่างไรก็ดี หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลลดลงที่ -0.7% สำหรับภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลงที่ -4.1% ต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ -0.9% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 76.8 จากระดับ 78.9 ในเดือน ก.ค.64 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนบริการด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) และอื่น ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) นักธุรกิจ กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทยรวม จำนวน 15,105 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตามโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จำนวน 12,345 คน สำหรับการท่องเที่ยวของชาวไทย จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย อยู่ที่ 893,565 คน ลดลง -92.0% ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายพื้นที่
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ -0.02% ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 0.45% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารสด อาทิ ข้าว เนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้สดปรับตัวลดลง รวมถึงมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.07% ต่อปี ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ค.64 อยู่ที่ 55.6% ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ส.ค.64 อยู่ในระดับสูงที่ 252.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 64)
Tags: การบริโภค, การลงทุน, วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล, ส่งออก, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, เศรษฐกิจไทย