นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. และ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมติศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
รถไฟฟ้า MRT จะปรับเวลาให้บริการดังนี้ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เวลา 06.00 – 22.00 น. และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) เวลา 05.30 – 22.00 น. (รถไฟขบวนสุดท้ายถึงสถานีปลายทางเวลา 22.00 น.) จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
ในส่วนของอาคารและลานจอดแล้วจรของ รฟม. จะเปลี่ยนแปลงเวลาให้บริการเป็นตั้งแต่เวลา 05.00 ถึง 22.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาให้บริการของรถไฟฟ้า
ปัจจุบัน รฟม. มีที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จำนวน 10 สถานี ประกอบด้วย 4 อาคาร และ 10 ลานจอดรถ ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีหลักสอง (2 อาคาร) ลานจอดแล้วจรสถานีรัชดาภิเษก สถานีห้วยขวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (2 ลาน) สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีสุขุมวิท สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (2 ลาน) และสถานีสามย่าน
ที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จำนวน 4 สถานี ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1
ที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 1 สถานี ได้แก่ ลานจอดแล้วจรสถานีเคหะฯ
และที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำนวน 2 สถานี ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรสถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน รฟม. และ BEM ได้ตระหนักและห่วงใยในความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยยังคงดำเนินการมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระบบรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 2 สายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ พร้อมทั้งขอความร่วมมือผู้โดยสารรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาการใช้บริการ สแกน QR Code ไทยชนะ ที่ติดอยู่ในตู้โดยสาร เพื่อเช็คอิน และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 64)
Tags: BEM, MRT, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ, รถไฟฟ้า, รถไฟฟ้าใต้ดิน, รฟม.