รายงานข่าวกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ โดยกรมสรรพสามิตจะชี้แจงรายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ทั้งหมดในวันที่ 30 ก.ย.64 เวลา 16.00 น. หลังอัตราภาษีใหม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ การปรับปรุงโครงสร้างภาษี จะปรับทั้งหมด ทั้งการจัดเก็บตามมูลค่าและตามปริมาณ จากปัจจุบันที่จัดเก็บ 20% ของราคาขายปลีกซองละไม่เกิน 60 บาท และ 40% สำหรับราคาขายปลีกที่เกิน 60 บาท รวมทั้งจัดเก็บตามปริมาณที่มวนละ 1.20 บาท
“ครม.เห็นชอบภาษีบุหรี่ใหม่แล้ว ในภาพรวมภาระภาษีจะปรับเพิ่มขึ้น มีการปรับอัตราจากเดิมที่ 20% เป็น 25% ส่วนอัตราเดิมที่ 40% ก็จะขยับขึ้นด้วย รวมทั้งราคาขายปลีกขั้นต่ำ 60 บาท ก็มีการปรับใหม่ ส่วนการจัดเก็บตามปริมาณต่อมวน จะเพิ่มขี้น 1.20 บาท เป็น 1.25 บาทต่อมวน คาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ขยับขึ้นอีกซองละ 6-8 บาท รายละเอียดทั้งหมด กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ชี้แจง” แหล่งข่าวระบุ
ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลัก คือ 1. ด้านสาธารณสุข 2. ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด 3. ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ 4. ด้านการดูแล บริหารจัดการบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม
นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เปิดเผยว่า หากมีการปรับขึ้นภาษี ยสท.ก็ต้องปรับราคาขายขึ้นตาม เพื่อให้อยู่ได้ ส่วนจะปรับเท่าไร และจะมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ด้วยหรือไม่ ต้องรอติดตามกรมสรรพสามิต และต้องนำผลเข้าหารือกับคณะกรรมการด้านราคา ของ ยสท. อีกครั้ง
“ยสท.ไม่ได้ห่วงว่า ผลจากการขึ้นภาษีจะทำให้แข่งขันกับบุหรี่นอกลำบาก แต่ห่วงเรื่องบุหรี่เถื่อน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นกระฉูด โดยที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่า 20% แล้ว รวมทั้งการสูบยาเส้นที่มีผลต่อสุขภาพมากกว่า เพิ่มขึ้นจาก 1 หมื่นล้านมวน เป็น 3.7 หมื่นล้านมวนต่อปี” ผู้ว่าฯ ยสท.กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างภาษีเป็น 2 อัตรา คือ 20% และ 40% กระทบยอดผลิตของ ยสท. เดิม 28,000 ล้านมวน เหลือ 18,000 ล้านมวนต่อปี ซึ่งยอมรับว่าหากมีการขึ้นภาษีอีกก็จะกระทบรายได้อีกแน่นอน แต่องค์กรจะยังสามารถอยู่ได้ ยังมั่นคง ไม่มีปัญหา
นอกจากนี้ ยสท.อยู่ระหว่างศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ Fighting Brand ที่มีราคาต่ำ เพื่อสร้างรายได้ แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะผลกระทบทางสังคม และสาธารณสุข
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: กระทรวงการคลัง, ประชุมครม., ภาณุพล รัตนกาญจนภัทร, ภาษีบุหรี่, ภาษีสรรพสามิต, มติคณะรัฐมนตรี