นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “เตี้ยนหมู่” ในช่วงวันที่ 23-28 ก.ย. 64 ส่งผลให้เกิดอุทกภัยใน 30 จังหวัด และประชาชนได้รับผลกระทบ 71,093 ครัวเรือน อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วม แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ สิ่งที่ต้องระวัง คืออาจเกิดคลัสเตอร์ใหม่จากการรวมตัวในชุมชน หรือศูนย์พักพิงได้ รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เข้าไปช่วยเหลืออาจนำเชื้อไปแพร่ในชุมชนได้เช่นกัน ดังนั้นทุกฝ่ายจะต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 DMHTT อย่างเคร่งครัด โดยปรับวิธีปฎิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่
ในส่วนของศูนย์พักพิงที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ต้องเป็นสถานที่ที่สามารถระบายอากาศได้ดี โดยเจ้าหน้าที่ควรมีมาตรการคัดกรองอย่างเข้มงวดกับผู้ที่จะมาพักอาศัย และต้องมีการสอบถามประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคโควิด-19 ในขณะเดียวกันยังคงต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด คือต้องมีการล้างมือบ่อยๆ หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ, ไม่ใช้ของใช้ร่วมกัน, ควรแยกการกันรับประทานอาหาร และรักษาระยะห่างจากผู้อื่น รวมทั้งใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ต้องมีการประเมินตนเองอยู่เสมอ หากพบว่ามีความเสี่ยงให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์พักพิงทันที
อย่างไรก็ดี สธ. ได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมในการให้บริการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 หากสถานพยาบาลใดไม่สามารถรับผู้ป่วยได้ มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานบริการอื่น รวมทั้งมีการปรับวิธีการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำท่วม ในขณะที่ยังคงมีการลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยเชิงรุกสำหรับผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ รวมทั้งมีการสื่อสารให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย และสุขาภิบาลแก่ประชาชนในช่วงน้ำท่วมอยู่เสมอ
ทั้งนี้ในช่วงฤดูฝนหลายพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม ประชาชนจึงควรมีการรับมือพร้อมรับมือน้ำท่วมอย่างปลอดภัย ดังนี้
- ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
- ยกสิ่งของในครัวเรือนขึ้นบนที่สูง
- รู้หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานท้องถิ่น
- เรียนรู้เส้นทางการอพยพไปที่ปลอดภัย และใกล้บ้านที่สุด
- เตรียมโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทำอาหาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค และอุปกรณ์สิ่งจำเป็นต่างๆ ให้พร้อม
- หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรเตรียมกระสอบทราย เพื่อใช้ชะลอ หรืออุดปิดช่องทางที่น้ำจะไหลเข้าบ้าน
- นำรถยนต์ หรือพาหนะไปจอดไว้ในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง
- ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ยกเบรกเกอร์ และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ต้องปิดบ้านให้เรียบร้อย
- เขียนหรือระบุที่ฟิวส์ หรือเบรกเกอร์ว่าตัวใดควบคุมการใช้ไฟฟ้าจุดใดในบ้าน
- หากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ไม่ควรขับรถฝ่าทางน้ำหลาก ให้ออกจากรถ และไปอยู่ในที่สูงทันที
สำหรับแนวปฏิบัติเมื่อเกิดน้ำท่วม คือให้ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อบ้านถูกน้ำท่วม เนื่องจากอุปกรณ์บางอย่างอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ รวมถึงห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าอุปกรณ์ทุกชิ้นนั้นแห้งสนิท ไม่ชำรุด เพราะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ อาจจะหนีน้ำเข้ามาในบ้าน จึงต้องมีการตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ้านในระหว่างน้ำท่วมอยู่เสมอ ในขณะเดียวกันประชาชนต้องระวังแก๊สรั่ว หากได้กลิ่นแก๊สให้อยู่ห่างๆ ไว้ โดยอาจจะลองใช้ไฟฉายส่องดู เพื่อเช็คความเสียหาย และห้ามสูบบุหรี่หรือจุดไฟจนกว่าจะปิดแก๊สหรือระบายอากาศในพื้นที่แล้ว เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงต้องทำความสะอาดทุกอย่างที่เปียกน้ำน้ำท่วมมีสิ่งปฏิกูลและสารอันตรายเจือปน ห้ามบริโภคทุกสิ่งที่สัมผัสน้ำ ส่วนเครื่องใช้ต่างๆ ต้องล้างให้สะอาดก่อนนำมาใช้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มาจากน้ำท่วม ในส่วนของการขับถ่ายต้องให้ถูกสุขาภิบาล โดยใช้ส้วมเฉพาะกิจ เช่น ส้วมเก้าอี้ พลาสติก หรือถุงพลาสติกแล้วโรยด้วยปูนขาวหรือขี้เถ้าหรือไฮเตอร์ใส่ในถุงอุจจาระเพื่อทำลายเชื้อโรค
นอกจากนี้สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงน้ำท่วม คือไม่เดินในเส้นทางน้ำหลาก เพราะอาจถูกพัดพาทำให้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิตได้ และหลีกเลี่ยงการขับขี่จักรยานยนต์ในพื้นที่น้ำขังอาจทำให้ตกหลุม ตกท่อ หรือชนวัตถุที่อยู่ใต้น้ำได้ หากต้องลุยน้ำท่วมให้สวมรองเท้าบูทกันน้ำ โดยต้องระวังการลื่นล้ม หรือการเหยียบของมีคม หลังจากเดินลุยน้ำต้องล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง รวมทั้งควรระวังการใช้เตาย่างที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, คลัสเตอร์, น้ำท่วม, ผู้ประสบภัยน้ำท่วม, ศูนย์พักพิง, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย, อุทกภัย, โควิด-19