นายเอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.พัฒนาโครงการ e-enforcement ช่วยตรวจสอบการกระทำผิดในตลาดทุน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1. AI-Enforcement นำ AI เข้ามาตรวจสอบการกระทำความผิดในด้านราคาในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะช่วยชี้พฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ และระบุช่วงเวลาที่เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติ ซึ่งปัจจุบันเริ่มนำมาใช้งานจริง และอยู่ในการพัฒนาระยะที่ 2 และ 3 ให้ AI จับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น โดย AI จะไปช่วยจับพฤติกรรมที่มีความผิดปกติในหุ้น เก็บสถิตินำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการส่งคำสั่งและแตกคำสั่ง
2. Corporate Surveillance ใช้ระบบออนไลน์ช่วยตรวจจับความผิดปกติเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานต่าง ว่าเกิดการกระทำที่ทุจริตหรือไม่ โดยได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ไตรมาส 2/64 ขณะที่แผนงานในอนาคตก็จะทำในเรื่องของ non-financial data, การพัฒนาเพิ่มระบบตรวจสอบความสัมพันธ์บุคคล, Implement AI & Machine learning โดยมีเป้าหมาย ตรวจจับและคัดครองธุรกรรมที่ผิดปกติได้รวดเร็ว ยับยั้งไม่ให้ความเสียหายลุกลาม ลดระยะเวลาในการทำงาน และลดจำนวนกรณีทุจริต คาดเห็นความชัดเจนในปี 65
3. E-Link ระบบช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคลและทางการเงิน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ในอนาคต ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายและรวดเร็วมากขึ้น ช่วยยับยั้งความเสี่ยงหาย ช่วยความสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดที่เร็วขึ้น
“กลไกของ e-enforcement จะช่วยบอกได้เลยว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่งของหุ้นตัวนี้ พฤติกรรมที่เรามีการป้อนให้ระบบช่วยหา เช่น ผลักดันราคา สั่งคำสั่งแล้วยกเลิกคำสั่ง พฤติกรรมของการแตกคำสั่ง เป็นต้น เครื่องคอมพิวเตอร์ก็จะบอกทันทีว่า ณ เวลานี้หุ้นตัวนี้เป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องของราคาหุ้น ปริมาณการซื้อขายหุ้น โดยจะสรุปพฤติกรรมให้กับเรารายวัน ซึ่งผู้ตรวจสอบก็สามารถเข้าไปตรวจสอบตามเวลาได้ง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็จะทำให้การตรวจสอบในเรื่องพฤติกรรมการกระทำผิดได้แม่นยำมากขึ้นด้วย และยังป้องกันการผิดพลาดของคน”
นายเอนก กล่าว
นอกจาก การนำ e-enforcement มาใช้ในการป้องกันและการตรวจจับแล้ว ก.ล.ต. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยและสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ประกอบด้วย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546, พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อส่งเสริมตลาดทุนดิจิทัลและยกระดับประสิทธิภาพการกำกับดูแลให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี รวมทั้งสภาพแวดล้อม (ecosystem) ของตลาดทุนในยุคดิจิทัล และให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน พร้อมกับส่งเสริมการระดมทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดทุน และการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการบังคับใช้กฎหมายในชั้นก่อนฟ้องคดี โดยให้เจ้าหน้าที่ของ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนและมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในความผิดฐานใช้ข้อมูลภายในซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ความผิดฐานสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน และความผิดฐานบอกกล่าวเผยแพร่หรือให้คำรับรองข้อความเท็จ และยังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายโดยกำหนดให้มีการคุ้มครองพยานในชั้นการตรวจสอบของ ก.ล.ต. เพื่อสนับสนุนให้การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: AI, e-enforcement, ก.ล.ต., เอนก อยู่ยืน