นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 65 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยประกอบด้วย
- แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,344,783.84 ล้านบาท
- แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,505,369.64 ล้านบาท
- แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 339,291.87 ล้านบาท
วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน ประกอบด้วย
(1) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
(2) การกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี
(3) การกู้เงินภายใต้แผนงานตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564
(4) การกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า เป็นต้น
(5) การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ
(6) การกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
ส่วนการคาดการณ์หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย.65 ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะนี้ จะอยู่ที่ 62.69% ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะกรอบใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าการลงทุนในแผนงานโครงการต่างๆ ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย
“ขอย้ำว่าเป็นการอนุมัติแผนบริหารหนี้สาธารณะ ไม่ใช่การขออนุมัติกรอบวงเงินกู้เพิ่มเติมแต่อย่างใด”
นางสาวรัชดา กล่าว
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ปัจจัยในการกำหนดกรอบในการจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะได้พิจารณาถึงนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพคล่องของตลาดการเงินภายในประเทศเพื่อรองรับการกู้เงินตามแผนฯ ในปีงบประมาณ 2565 ตลอดจนการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (Medium-Term Debt Management Strategy: MTDS) สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกู้เงินที่เพิ่มสูงขึ้นของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ และสภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง เพื่อกำกับการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2561
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, รัชดา ธนาดิเรก, หนี้สาธารณะ