นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลศึกษาการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale Central Bank Digital Currency: Wholesale CBDC) สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ริเริ่มโดย ธปท. และธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ภายใต้ชื่อโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 ซึ่งผลการพัฒนาดังกล่าวเป็นไปด้วยดี
ดังนั้น จึงมีการพัฒนาต่อยอดโครงการในระยะที่ 3 โดยได้ขยายความร่วมมือไปยังธนาคารกลางแห่งสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) พัฒนาต่อยอดเป็นโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge Project (mBridge)
ผลการศึกษาโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 พบว่า การพัฒนาระบบต้นแบบ Wholesale CBDC สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยการใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) ภายใต้โครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 นั้น สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขการทดสอบที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ และรูปแบบการโอนเงินในปัจจุบัน อาทิ การเพิ่มประเทศและสกุลเงินตราต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และการติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ การพัฒนาระบบต้นแบบดังกล่าว สามารถช่วยลดระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศเหลือเพียงหลักวินาที เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนเงินในระบบปัจจุบันซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน รวมถึงช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศได้กว่าครึ่งหนึ่งจากระบบปัจจุบัน
สำหรับแผนการดำเนินโครงการในระยะถัดไป จากผลสำเร็จของโครงการ Inthanon-LionRock ระยะที่ 2 นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดเป็นโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ mBridge โดยเป็นโครงการพัฒนาร่วมกันระหว่างกลุ่มธนาคารกลาง 4 แห่ง ได้แก่ ธปท., HKMA, CBUAE และ PBC DCI ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH) ณ ฮ่องกง ทั้งนี้ โครงการ mBridge มีวัตถุประสงค์ร่วมกันพัฒนาระบบต้นแบบ Wholesale CBDC สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศในลักษณะหลายสกุลเงิน (multi-currency) ภายในกลุ่มธนาคารกลางที่เข้าร่วม
ในระยะถัดไป โครงการ m-CBDC Bridge จะพัฒนาระบบต้นแบบการโอนเงินระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ จากข้อจำกัดของระบบต้นแบบที่ได้พัฒนาในระยะที่ผ่านมา เช่น การบริหารจัดการสภาพคล่อง การรักษาความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน และความสามารถในการใช้ระบบ DLT สำหรับรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก
ทั้งนี้ การออกแบบและพัฒนาระบบดังกล่าวคำนึงถึงข้อกำหนดด้านหลักเกณฑ์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมโอนระหว่างประเทศ รวมถึงระบบการจัดการภายในและการกำกับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยธนาคารกลางที่เข้าร่วมโครงการจะมีการประเมินผลการทดสอบ และพิจารณาความเหมาะสมของการขยายขอบเขตการพัฒนาไปสู่ธนาคารพาณิชย์และผู้ใช้งานต่อไปในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: CBDC, HKMA, ธนาคารกลางฮ่องกง, ธปท., ธุรกรรมทางการเงิน, วชิรา อารมย์ดี, เงินดิจิทัล, โอนเงินระหว่างประเทศ