สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาส 3/64 อยู่ที่ระดับ 7 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขณะที่คาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 4/64 อยู่ที่ระดับ 29 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการคาดว่าสถานการณ์ในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ แต่ความเชื่อมั่นยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาคผู้ประกอบการคาดว่าในไตรมาส 4/64 กรุงเทพมหานคร (กทม.) สถานการณ์ท่องเที่ยวจะดีกว่าภูมิภาคอื่น ส่วนภาคตะวันตกเป็นภูมิภาคที่มีตัวเลขความเชื่อมั่นต่ำที่สุด
ทั้งนี้ ในปี 64 สทท.คาดว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 280,447 คน และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 16,827 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 40,000 คน แต่หากภาครัฐมีความชัดเจนในการเปิดประเทศ รวมทั้งมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้นในไตรมาส 4/64 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีก 200,000 คน
นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานภาพการประกอบการในไตรมาสนี้ พบว่าเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังเปิดให้บริการเพียง 51% ลดลง 7% จากไตรมาส 2/64 โดยเป็นการปิดกิจการชั่วคราว 44% เพิ่มขึ้น 6% และปิดกิจการถาวร 5% เพิ่มขึ้น 1% รวมทั้งยังพบว่า 84% ของสถานประกอบการมีพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง โดยมีแรงงานที่ออกจากระบบไปมากถึง 71% หรือประมาณ 3,053,000 คน
ในขณะที่ 54% ของสถานประกอบการระบุว่าไม่มีรายได้เข้ามาเลย ได้แก่ สถานบันเทิง 100%, สวนสนุกและธีมพาร์ค 94%, บริษัทนำเที่ยว 93%, ธุรกิจนวดและสปา 86% และธุรกิจบริการขนส่งนักท่องเที่ยว 68%
ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ธุรกิจขนส่งนักท่องเที่ยว ธุรกิจที่พักแรม และร้านขายของฝากของที่ระลึก มีรายได้ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/64 เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และ “สมุยพลัสโมเดล” นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจโรงแรม และที่พัก เปิดให้บริการประมาณ 82% โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 18% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/64
ด้านสถานการณ์ทั่วไป และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในไตรมาส 4/64 สำหรับปัจจัยภายนอกประเทศ ในส่วนของปัจจัยบวก คือมีการฉีดวัดซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศมีความคืบหน้าสูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูง ส่วนปัจจัยลบ คือการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายประเทศประสบปัญหาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศจีนในวันที่ 13 ก.ย. 64 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของจีนเกรงว่าจีนจะมีการล็อกดาวน์ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมาประเทศไทย
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปัจจัยบวก คือจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐทั้ง “โครงการเราเที่ยวด้วยกันระยะ 3” และ “โครงการทัวร์เที่ยวไทย” รวมทั้งมีแผนการเปิดประเทศระยะ 2 จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่ม ได้แก่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และเชียงใหม่ รวมทั้ง กทม. ในส่วนของปัจจัยลบ คือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังมาตรการปลดล็อกดาวน์ เนื่องจากมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อการบริโภคของประชาชนที่ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง ซึ่งส่งผลต่อภาคท่องเที่ยวภายในประเทศในระยะต่อไปได้อีกด้วย
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่าโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่เปิดมาประมาณ 3 เดือนนั้น ถือว่าประสบความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์ คือเป็นการประกาศให้ทั่วโลกรู้ว่าไทยเป็นผู้นำของโลกในด้านการท่องเที่ยว สามารถเป็นต้นแบบในการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยตามมาตรการสุขอนามัยที่ดี รวมทั้งมีการพบผู้ติดเชื้อในโครงการแซนด์บอกซ์ในระดับต่ำมาก
แต่เมื่อเจาะลึกในด้านอื่นพบว่าไทยยังไม่สามารถขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากที่ผ่านมาเงื่อนไขในการเข้าประเทศยังไม่เอื้อกับการเดินทาง และนักท่องเที่ยวยังมีความสับสนในเรื่องของเกณฑ์และรูปแบบที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงเสนอให้ทุกพื้นที่ใช้ SOP เดียวกัน และให้ใช้ชื่อ “แซนด์บอกซ์” ต่อท้ายเหมือนกันเหมือนกันกับทุกพื้นที่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อให้เป็น Single Message ที่ง่ายต่อการประชาสัมพันธ์
ที่ผ่านมา สทท. ได้ผลักดันให้มีการลดวันกักตัวเหลือ 7 วันสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และลดการตรวจโควิด-19 เหลือ 2 ครั้ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาครัฐ และศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ลำดับต่อไปจะเป็นการพิจารณาว่าทำอย่างไรให้เกิดความสะดวกกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น เช่นการปรับกระบวนการของการขอ COE, การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาเชื่อมโยงกันให้เป็น Single Platform และที่สำคัญที่สุด คือการวางแผนแคมเปญ เพื่อดึงดูดและกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหากสามารถกระตุ้นรายได้เพิ่มเติม คาดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถกลับมาใกล้เคียงกับปี 63 ได้
ด้านภาคเอกชนในขณะนี้มีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทั้งในด้านการเตรียมผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐาน SHA เพื่อความมั่นใจด้านสุขอนามัย การเตรียมบุคลากรที่ได้รับวัคซีนครบโดส การเตรียมแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ ดังนั้นหากภาครัฐมีการปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ และมีการออกแคมเปญที่ดี ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างแน่นอน
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. กล่าวว่า ในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคเอกชนจำเป็นจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดรายได้ไปกว่า 18 เดือน และต้องปิดกิจการชั่วคราว หรือลดขนาดกิจการลงไปมากกว่า 50% จึงขาดความพร้อมในการกลับมาเปิดกิจการเพื่อรับนักท่องเที่ยวใหม่
จากการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวมีความต้องการในการรับการสนับสนุนจากภาครัฐใน 4 ด้านหลัก คือ 1. 42% ต้องการโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการกลับมาเปิดกิจการ (Restart Budget) 2. 30% ต้องการโครงการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท 3. 20% ต้องการ โครงการ Co-pay หรือการให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนพนักงาน 50% เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่วันเริ่มกลับมาเปิดกิจการ และ 4. 8% ต้องการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษี และค่าจดทะเบียนต่างๆ เป็นระยะเวลา 3 เดือนนับจากวันเริ่มกลับมาเปิดกิจการ
ทั้งนี้ ในแต่ละธุรกิจนั้นต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต่างกันไป โดยธุรกิจโรงแรมส่วนใหญ่กว่า 60% ต้องการ Copay ธุรกิจภาคขนส่งกว่า 62% ต้องการกองทุนฟื้นฟูกิจการเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ ส่วนภาคธุรกิจอาหาร 65% ต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่จะนำเงินมาลงทุนในการรีสตารท์ธุรกิจ และเป็นเงินสำรองหมุนเวียนในกิจการ
ด้านนายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic) ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการรักษาความสามารถในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และต้องการมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการเปิดประเทศในไตรมาส 4/64 นี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่มากนัก หากไม่มีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวภายในประเทศ จำนวนผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก
ดังนั้น ต้องมีแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ทัวร์เที่ยวไทยและเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งถือว่าออกมาได้ถูกจังหวะ และจะเป็นกุญแจที่สำคัญที่จะทำให้ในไตรมาสที่ 4/64 ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ดี
อย่างไรก็ดี จะต้องมีการบูรณาการมาตรการของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการปฎิบัติตาม รวมทั้งต้องมีการสนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จากภาครัฐ นอกจากนี้สทท. ได้ทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อย่างใกล้ชิดในการวางแผนระยะยาว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 1-2/65 เช่น การออกแคมเปญเที่ยวคนละครึ่ง เป็นต้น
นางสมทรง สัจจาภิมุข รองประธาน สทท. กล่าวว่า ประเทศอินเดียเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตสูงมาก เนื่องจากอินเดียมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศ (Outbound) เฉลี่ยที่ปีละ 10-11% ซึ่งในปี 62 ชาวอินเดียเดินทางเข้ามาประเทศไทยราว 1.96 ล้านคน ขยายตัวราว 26% นอกจากนี้อินเดียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวสูง และเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เช่น ตลาดเวดดิ้งและฮันนีมูน, เฮลท์แอนด์เวลเนส เป็นต้น
แม้ว่าอินเดียยังเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ในอันดับต้นๆ แต่ยังเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีขณะนี้ประเทศอินเดียกำลังมีอัตราการติดเชื้อลดลงอย่างมาก และน่าจะมีความพร้อมในการเดินทางในไตรมาส 4/64 นี้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปิดประเทศของไทย โดยหากไทยมีการวางกลยุทธให้เหมาะสม กลุ่มตลาดอินเดียจะเป็นตลาดที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยไม่แพ้นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 64)
Tags: lifestyle, ดัชนีความเชื่อมั่น, ท่องเที่ยว, ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์, สทท., สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว