ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8 พันล้านบาทซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนภายใน 5 ปีของบริษัทที่ระดับ “A+” เช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่มีอยู่บางส่วน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนการมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในสินค้าที่อยู่อาศัยหลากหลายประเภท กระแสรายได้จากสินทรัพย์ให้เช่าที่สร้างรายได้ประจำ และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินจากการมีหลักทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูงของบริษัท และการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจโรงแรมและค้าปลีกและเพิ่มความกดดันต่ออุปสงค์ที่อยู่อาศัยให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง ถึงแม้จะมีการระบาดของโรคโควิด 19 แต่รายได้ของบริษัทยังเพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนไปอยู่ที่ 1.67 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากโครงการบ้านจัดสรรเพิ่มขึ้นถึง 27% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 84% ของรายได้รวม ขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจากโครงการคอนโดมิเนียมและรายได้ค่าเช่าและบริการ
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้รวมทั้งสิ้น 6.6 พันล้านบาท ซึ่งประมาณ 71% ของยอดขายดังกล่าวคาดว่าจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้ในปี 2564 และส่วนที่เหลือจะส่งมอบได้ในปีต่อ ๆ ไป บริษัทมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายทรงตัวอยู่ในระดับ 36%-38% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนนี้อยู่ที่ 37.9% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสัดส่วนหนี้สินอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 53% ในปี 2563 ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เพิ่มขึ้นจากระดับ 47%-48% ในช่วงปี 2559-2562 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำรงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% ไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้นั้น บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.5 เท่า โดย ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.96 เท่าซึ่งต่ำกว่าข้อกำหนด
ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ 15% และมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 8.6 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมากในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงซึ่งช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกด้วย
ทั้งนี้ มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ของเงินที่บริษัทลงทุนในบริษัทร่วมซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท และเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากเงินลงทุนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี อนึ่ง ทริสเรทติ้งมองว่ามูลค่าของเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับสภาวการณ์และความผันผวนของตลาด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าเงินลงทุนดังกล่าวยังคงช่วยสนับสนุนความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของบริษัทได้
ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 6.18 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 2.6 หมื่นล้านบาทตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของทริสเรทติ้ง ซึ่งหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้สินที่มีหลักประกันของบริษัทและบริษัทย่อย และทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ 42% และต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 50% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงมิได้คาดว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจะด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็ง รวมถึงจะรักษาระดับยอดขายที่อยู่อาศัยและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ อีกทั้งจะรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทควรจะดำรงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ระดับต่ำกว่า 5 เท่า
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากโครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบันซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ในระดับต่ำกว่า 3 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทยังคงแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่น ๆ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทลดลงจากระดับปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 64)
Tags: LH, ทริสเรทติ้ง, หุ้นกู้, หุ้นไทย, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์