กสทช.วางโรดแมพกิจการวิทยุฯรอเปลี่ยนผ่านเม.ย.65 เล็งประมูลไลเซ่นส์วิทยุคลื่นธุรกิจต้นปี 65

พันเอก นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. ได้กำหนดแนวทางเพื่อให้การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเป็นไปด้วยความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 10/2564 เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 พิจารณาเห็นชอบแผนการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง (Roadmap) เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง

ตาม Roadmap กำหนดให้การเปลี่ยนผ่านการทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.65 เป็นต้นไป โดยให้มีการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ด้วยกำลังส่งต่ำในประเภทบริการชุมชน และบริการสาธารณะตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.65 ส่วนผู้ประกอบกิจการประเภทบริการทางธุรกิจ ให้ดำเนินการยื่นคำขอทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงด้วยกำลังส่งต่ำ และเข้าสู่กระบวนการอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะประกาศให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ หากผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงรายใดไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการอนุญาตตามกฎหมายได้ ให้ยุติการออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในปี 67

“การดำเนินการของ กสทช. จะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องตาม Roadmap เพื่อให้การให้บริการกระจายเสียงภายหลังวันที่ 4 เมษายน 2565 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงรายใหม่สามารถเข้าสู่ระบบการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้”

พันเอกนที กล่าว

ในการดำเนินการตาม Roadmap นั้น กสทช. จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในระบบ F.M. จำนวน 313 คลื่นความถี่ และระบบ A.M. จำนวน 196 คลื่นความถี่ โดยการพิจารณาอนุญาตในประเภทบริการสาธารณะ จะพิจารณาตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

ส่วนการพิจารณาอนุญาตในประเภทบริการทางธุรกิจ จะดำเนินการโดยวิธีการประมูล ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 4 เม.ย.65

กสทช. คาดว่าจะออกหนังสือเชิญชวนให้มาประมูลสำหรับผู้ใช้คลื่นธุรกิจและจัดประมูลคลื่นความถี่ระบบ F.M. ในเดือน ธ.ค.64 และจัดประมูลในเดือน ก.พ.65 จากนั้นในเดือน มี.ค.65 พิจารณาคำขอประกอบกิจการและประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นและประกอบกิจการ จากนั้นเริ่มประกอบกิจการตามที่ได้รับอนุญาต ตั้งแต่เดือน เม.ย.65 หากมีคลื่นที่เหลือจากการจัดสรรให้จัดประมูลอีกครั้งในเดือน พ.ค.65

ส่วนผู้ใช้คลื่นสาธารณะ จะมีหนังสือเชิญชวนให้มายื่นคำขอในเดือน ธ.ค.64 และเปิดรับคำขอในเดือน ม.ค.65 จากนั้นในเดือน ก.พ.65 พิจารณาคำขอใช้คลื่น และประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

“จากจำนวนสถานีวิทยุทดลองประกอบกิจการที่มีจำนวนมากและแนวทางที่ชัดเจนของ กสทช. ในการยุติการทดลองประกอบกิจการจะส่งผลให้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเพื่อประกอบกิจการภายใต้ระบบใบอนุญาต แต่อาจไม่มีจำนวนมากนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กันพื้นที่การให้บริการ ส่วนการจัดประมูลกติกาถูกกำหนดมาตามลำดับภายใต้ กสทช. ชุดปัจจุบันแต่การดำเนินการอาจต่อเนื่องจาก กสทช.ชุดปัจจุบันไปยังชุดใหม่ด้วย”

พันเอก นที กล่าวว่า ในการจัดทำแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง กสทช. ตระหนักว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมีการพัฒนาบริการกระจายเสียงด้วยเทคโนโลยีใหม่การให้บริการวิทยุกระจายเสียงมีความท้าทาย แต่ก็ยังเป็นทางเลือกในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน แต่อาจมีความสำคัญลดลงปัจจัยทางเทคโนโลยีมีผลให้ราคาประเมินและราคาประมูลลดลง

ส่วนรายได้ในการประมูล กสทช.คาดว่ารายได้จากการประมูลในกิจการกระจายเสียงไม่น่าจะมีจำนวนมากนักเป็นไปตามกลไกตลาดถ้ามีการประมูลเป็นไปตามแผนรัฐก็จะมีรายได้ในระดับร้อยล้าน แต่ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการอนุญาตตามกฎหมายแก้ไขปัญหาการ

รบกวนคลื่นความถี่และการยกระดับมาตรฐานของการประกอบกิจการตลอดจนการคุ้มครองผู้รับบริการ

ปัจจุบันผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ผู้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. องค์กรฯ) ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 509 สถานี แบ่งเป็นระบบ FM 313 สถานี และระบบ AM จำนวน 196 สถานี และ 2) ผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 4,371 สถานี แบ่งเป็นประเภทบริการชุมชน 263 สถานี บริการสาธารณะ 692 สถานี และบริการทางธุรกิจ 3,416 สถานี

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรฯ นั้น ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 76/2559 เรื่อง มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ได้กำหนดให้ระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ของผู้รับอนุญาตตามมาตรา 83 ดังกล่าว สิ้นสุดลงในวันที่ 3 เม.ย.65

สำหรับผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เดิม กสทช. ได้เปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อให้มีสถานะเป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ต่อมาในปี 2555 กสทช. ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 และกำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว เข้าสู่กระบวนการขอรับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ โดยสามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้สอดคล้องตามประเภทการให้บริการได้ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทบริการชุมชน บริการสาธารณะ และบริการทางธุรกิจ

ต่อมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีแดงหมายเลขที่ อ.1365/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ให้เพิกถอนข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2555 ที่กำหนดสิทธิในการยื่นคำขอทดลองประกอบกิจการว่าผู้ยื่นจะต้องเป็นผู้ได้รับสิทธิทดลองออกอากาศในลักษณะชั่วคราว หรือวิทยุชุมชนมาก่อน ทำให้ผู้ที่ประกอบกิจการวิทยุธุรกิจอยู่เดิมไม่สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตได้ อีกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังขัดกับมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรฯ ที่บัญญัติให้การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ประเภทบริการทางธุรกิจให้ใช้วิธีคัดเลือกโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ โดยการเพิกถอนดังกล่าวมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 64)

Tags: , ,
Back to Top