นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) เปิดเผยว่า บริษัทประเมินว่าโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3901 ตอน 1 สายคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ด้านตะวันตก) ในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซี่งเป็นโครงการที่ CIVIL ได้พัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทยและเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านโลจิสติกส์และขนส่งของไทยให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี
แม้ที่ผ่านมาการดำเนินงานก่อสร้างต้องหยุดดำเนินงานไป 1 เดือน ภายหลังภาครัฐมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นไตรมาส 3/64 ที่ผ่านมา แต่บริษัทคาดว่าจะบริหารโครงการให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานที่มีคุณภาพให้แก่ภาครัฐได้ทันตามกำหนด เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนและภาคขนส่งสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว และมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมไทยพัฒนาเติบโตต่อไปในอนาคต
แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง จากการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการทั้งระบบราง โครงข่ายถนนทั้งทางยกระดับและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเข้มแข็ง หลังสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จึงเป็นโอกาสผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเข้ารับงานโครงการของภาครัฐ เพื่อช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในฐานะที่บริษัทฯ เป็นผู้นำด้านวิศวกรรมโยธาแบบครบวงจรชั้นนำของประเทศ จะนำองค์ความรู้ความชำนาญจากประสบการณ์การบริหารโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่มากว่า 50 ปี และข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันที่มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความชำนาญวิศวกรรมก่อสร้าง มีนวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องจักรอุปกรณ์ และมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้าง เช่น ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปสำหรับงานโครงสร้างสะพานและรถไฟความเร็วสูง โรงงานแอสฟัลท์ติกคอนกรีต คอนกรีตผสมเสร็จ ท่อระบายน้ำคอนกรีต ราวเหล็กลูกฟูก ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการบริหารโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้บรรลุเป้าหมายของทุกฝ่ายที่ตั้งใจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทได้นำหลักบริหารจัดการสมัยใหม่เพื่อบริหารโครงการ โดยเน้นความคล่องตัว ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างทันท่วงที เพื่อรับมือความเสี่ยงการขาดแคลนแรงงานก่อสร้างและการบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมในโลกหลังยุคโควิด-19 โดย CIVIL จะใช้ความชำนาญในวิศวกรรมโยธาของทีมบุคลากร เพื่อเลือกใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในงานก่อสร้าง ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันดังกล่าว ทำให้บริษัทมีศักยภาพการบริหารงานโครงการก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ครอบคลุมประเภทงานทาง งานทางรถไฟทั้งรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง งานท่าอากาศยาน งานเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ด้วยเป้าหมายที่สามารถส่งมอบงานที่มีคุณค่า คุณภาพสูง ปลอดภัย ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมของประเทศไทย ช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศที่ดียิ่งขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในสังคม
“อุสาหกรรมก่อสร้างมีขนาดใหญ่คิดเป็น 8-9% ของจีดีพี ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภาครัฐจึงมีนโยบายชัดเจนด้านการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาโครงการ ทั้งรูปแบบการเปิดประมูลบริหารโครงการก่อสร้าง หรือเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ซึ่ง CIVIL พร้อมนำศักยภาพการดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง เข้าร่วมบริหารโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้มีคุณภาพสูงสุด เชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคม”
นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ย. 64)
Tags: CIVIL, ซีวิลเอนจีเนียริง, ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข, หุ้นไทย