น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏว่ามีการแอบอ้างว่าจะการใช้สกุลเงินดิจิทัลใหม่ทั่วโลก รวมทั้งจะมีการยกหนี้ในระบบสถาบันการเงิน และแลกเปลี่ยนเงินฝากในระบบสถาบันการเงินเป็นสกุลเงินดิจิทัลนั้น กระทรวงการคลังขอชี้แจงว่า ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวัง อย่าโอนเงินหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับบุคคลที่มีการแอบอ้างในลักษณะดังกล่าว รวมทั้งอย่าส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่มิได้ถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ปัจจุบัน กฎหมายว่าด้วยเงินตรากำหนดให้เงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย มีเพียงเหรียญกษาปณ์ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง และธนบัตรที่ออกโดย ธปท.เท่านั้น นอกจากนี้ การหลอกลวงผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นและให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม จะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
“กระทรวงการคลัง ขอเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมแอบอ้าง โดยมีเจตนาหลอกลวงหรือทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว โดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และหากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามกฎหมายทันที”
โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว
นอกจากนี้ ตามที่มีผู้ไม่หวังดีหรือมิจฉาชีพออกข่าวหลอกลวงประชาชน ซึ่งแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ LINE Open Chat (โอเพนแชท) อย่างกว้างขวาง เป็นประเด็นการออกใบกระจายเงินพิเศษ จ่ายเงินให้ประชาชนรายชื่อละหลักล้านบาท ปลอดภาษี ชำระหนี้ให้ศูนย์ (ล้างหนี้ให้) โดยมีการกล่าวอ้างและปลอมแปลงหลักฐานว่าได้รับการรับรองจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงประเด็นที่กล่าวอ้างว่าธนาคารโลก (World Bank) จะมีการปรับปรุงระบบการเงินโลก (Reset) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างๆ ทั่วโลกในเรต 1:1 และยกเลิกบัตรบัตรเครดิต การจำนอง การล้างหนี้ โดยระบุว่ามีประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมตัวกันอย่างลับ ๆ เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบหรือกองทุนที่เรียกว่า Gesara โดยโน้มน้าวให้ประชาชนมาร่วมลงทุนกับระบบดังกล่าวนั้น
กระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เคยมีการดำเนินงานใดเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือกองทุนในลักษณะนี้ เป็นการหลอกลวงประชาชน ขอประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ
ทั้งนี้ การลงทุนหลอกลวงลักษณะนี้ เกิดขึ้นมานานแล้ว และที่ผ่านมา ผู้หลงเชื่อไม่เคยมีใครได้รับประโยชน์ที่กล่าวอ้าง หรือหากได้รับก็เป็นการหลอกล่อให้เหยื่อตายใจเพื่อลงทุนเพิ่มกับมิจฉาชีพ
น.ส.กุลยา กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพผู้กระทำผิดและขอให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ และผู้ที่ได้รับผลกระทบได้โปรดรวบรวมหลักฐานและแจ้งความเอาผิดเครือข่ายดังกล่าวกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเอาผิดมิจฉาชีพดังกล่าวต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 64)
Tags: Cryptocurrency, กุลยา ตันติเตมิท, คริปโทเคอร์เรนซี, สกุลเงินคริปโต, สกุลเงินดิจิทัล, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง