นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจาก พายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางนาม ประเทศเวียดนาม มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 260 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณจังหวัดอำนาญเจริญของประเทศไทย คาดว่าจะอ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันเคลื่อนเข้าปกคลุมบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีของประเทศไทยในวันนี้ (24 ก.ย. 64) ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจากแม่น้ำวัง แม่น้ำปิง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน (24 ก.ย.) เวลา 06.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,112 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 ในวันที่ 27 ก.ย.64 ในอัตรา 2,441 ลบ.ม./วินาที เมื่อรวมกับน้ำท่าจากแม่น้ำสะแกกรังประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กรมชลประทาน จึงปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,951 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ บริเวณคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนแม่น้ำน้อย (ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา) คลองโผงเผง จ.อ่างทอง วัดไชโย จ.อ่างทอง และ อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 75 เซนติเมตร ในช่วงเช้าของวันที่ 26 ก.ย. 64
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงสามารถปฏิบัติงานได้ทันที และได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 64)
Tags: lifestyle, กรมชลประทาน, น้ำท่วม, ประพิศ จันทร์มา, ระบายน้ำ, เขื่อนเจ้าพระยา