ภูเก็ต คลายล็อกเปิดให้เดินทางเข้าพื้นที่ได้ทุกช่องทาง ตั้งแต่ 1 ต.ค.

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่ จ.ภูเก็ต ระบุว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทางจังหวัดภูเก็ตได้กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 มาแล้วระยะหนึ่ง ทั้งการตรวจคัดกรองเชิงรุก การสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้ประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงการเร่งดำเนินการตามแผนให้บริการวัคซีน ดังนั้นเพื่อให้มาตรการทางด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิตของประชาชนและการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จึงได้กำหนดมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าภูเก็ต มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

1. ผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ทางด่านตรวจท่าฉัตรไชย ทางน้ำ (ท่าเรือ ทุกท่า) ในจังหวัดภูเก็ตและช่องทางภายในประเทศ ท่าอากาศยานภูเก็ต ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดซิโนแวค, ซิโนฟาร์ม, สปุตนิก วี ครบ 2 เข็ม หรือซิโนแวค เข็มที่ 1 แอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 หรือได้รับวัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มาแล้วจำนวน 1 เข็ม เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด- 19มาแล้วไม่เกิน 6 เดือน

และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test ที่มีผลยืนยันจากสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก่อนเดินทางถึง

กรณี ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านจังหวัดภูเก็ต เดินทางผ่านด่านตรวจท่าฉัตรไชย และด่านตรวจทางน้ำ (ท่าเรือ) สามารถนำชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่ได้มาตรฐานการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปตรวจกับสถานพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ หรือ รพ.สต. หรือนำมาตรวจเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ใช้ยืนยันผลได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน

2.ผู้เดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับการยกเว้นตามข้อ 1

  • เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
  • ผู้เดินทางมากับรถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย

3. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี จนถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT – PCR หรือวิธีการ Antigen Test โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วันก่อนเดินทางถึง กรณีผู้เดินทางผ่านด่านตรวจท่าฉัตรไชย และด่านตรวจทางน้ำ (ท่าเรือ) สามารถนำชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐานการรับรองจาก อย. มาตรวจเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ใช้ยืนยันผลได้ครั้งละไม่เกิน 7 วัน

4. กรณีนักเรียนนักศึกษาอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้และมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้า -ออกจังหวัดภูเก็ตเพื่อการเรียนการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัดออกบัตรประจำตัวเป็นรูปแบบเดียวกัน แสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทาง ผ่านเข้า – ออกจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test และออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน

5. ผู้ที่มีนัดหมายตามกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน(จำเลย พยาน ผู้ต้องหา ผู้ได้รับการปล่อยตัว ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่าหากเลื่อนเวลานัดหมายดังกล่าว จะทำให้กระบวนการพิจารณาเสียหายอย่างร้ายแรง ให้สามารถดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้โดยมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test เป็นลบ โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก่อนเดินทางถึง

6. ผู้เดินทางมาตามโครงการนำร่องด้านการท่องเที่ยว (7+7 Extension) หรือบุคคลที่เดินทางไปท่องเที่ยวนอกเขตจังหวัดภูเก็ตทางทะเล ไปจังหวัดนำร่องอื่นแบบไป – กลับภายในวันเดียว พร้อมคนขับเรือ มัคคุเทศก์ และพนักงานประจำเรือ ให้สามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้โดยมีผลการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้คนขับเรือ มัคคุเทศก์ และพนักงานประจำเรือ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี ATK ทุกสัปดาห์

7. ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ ” และเปิดระบบติดตามไว้ตลอดเวลา หรือลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com เพื่อแจ้งข้อมูลในการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตล่วงหน้า และแสดง QR Code ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต

ผู้ติดเชื้อที่จงใจปกปิดข้อมูลการเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จ ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและควบคุมโรคเป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไป อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติด ต่อ ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ด้วย ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19(D-M -H -T -T- A)

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top