นายกำจร ลีประพันธ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท S.IF. จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) กล่าวว่า บริษัทเปิดนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง เป็นก้าวสำคัญของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเป็นโครงการแรกในกลุ่มธุรกิจนี้ที่พัฒนาจากแนวคิด “Enriching Tomorrow” ที่มุ่งสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และโครงการนี้จะส่งเสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจให้กับจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง พร้อมทั้งรักษาความสมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ตลอดไป
S เล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งมีศักยภาพสูงในการเติบโต ตามแนวทาง “หนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรฯ ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนสร้างความแข็งแกร่ง ทั้งในด้านทำเลที่ตั้งของจังหวัดอ่างทอง ที่เป็นศูนย์กลางแหล่งวัตถุดิบคุณภาพสูง เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อของ 4 จังหวัด ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งวัตถุดิบสินค้าเกษตร จากภาคเหนือและภาคกลางตอนบน สู่ศูนย์กระจายสินค้าเกษตรหลักของภาคกลาง (ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง)
อีกสิ่งที่สำคัญ คือ มีแรงงานจำนวนมาก รองรับการความต้องการของผู้ประกอบการ เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาวิชาชีพหลายแห่งอยู่ในจังหวัดอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียง อาทิเช่น ราชภัฏลพบุรี วิทยาลัยเทคนิค และอื่นๆ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงการพื้นฐานที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ ทำให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของพนักงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุนในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเป็นอย่างยิ่ง
โครงการนิคมอุตสาหกรรม เอส อ่างทอง มีพื้นที่โครงการ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนสายเอเชีย กม.63 ต.ไชยภูมิ อ. ไชโย จ.อ่างทอง สะดวกต่อการขนส่งสินค้า ไปยังศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ สถานีรถไฟ รวมทั้งท่าอากาศยาน และจังหวัดใกล้เคียง พร้อมโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอและมั่นคง โดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทพลังงานความร้อนร่วม หรือ Co-Generation (เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันก๊าซและกังหันไอน้ำมาทำงานเป็นระบบร่วมกัน) ซึ่งมีข้อดีคือให้กำลังการผลิตสูง มีความยืดหยุ่นในการเดินเครื่อง มลภาวะต่ำ และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้เป็นอย่างดี
ผลผลิตที่ได้เป็นกระแสไฟฟ้าทีมีคาร์บอนต่ำ (Low carbon emission) จาก โรงไฟฟ้า SPP 3 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 400 เมกกะวัตต์ พร้อมระบบจ่ายไฟฟ้า 22 KV โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาตั้งโรงงานในนิคมฯ มีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าทั่วไปประมาณ 3% ในส่วนของทรัพยากรน้ำ มีศักยภาพการผลิตน้ำประปา 9,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 384 ไร่ เทียบเท่าความจุ 6.12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะมีการติดตั้ง Solar farm ลอยน้ำ ในอนาคต อีกทั้งรองรับกลุ่มธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ด้วยเครือข่ายโทรคมนาคม ระบบ 5G และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ครอบคลุมทุกพื้นที่โครงการ
สำหรับการจัดสรรพื้นที่ภายในนิคมอุตสาหกรรม แบ่งเป็น เขตอุตสาหกรรมอาหาร และเขตอุตสาหกรรมทั่วไป โดยช่วงที่ 1 มีพื้นที่ 364.7 ไร่ และช่วงที่ 2 มีพื้นที่ 662.3 ไร่ เขตธุรกิจพื้นที่พาณิชยกรรม 34 ไร่ พื้นที่สีเขียวและสันทนาการ 147 ไร่ โรงไฟฟ้า พื้นที่ 77.4 ไร่ และระบบสาธารณูปโภค รวม 215 ไร่ โดยจะแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 66
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการขอใบอนุญาตต่างๆ ผ่านศูนย์ Total solution Center รวมถึงการนำเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักร และยังได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้วย และการออกแบบพัฒนาโครงการที่ปลอดภัยจากภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะ อุทกภัยเนื่องจากมีการนำข้อมูลสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์ในการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม (flood protection) ล้อมรอบโครงการ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 64)
Tags: S.IF., กำจร ลีประพันธ์กุล, นิคมอุตสาหกรรม, สิงห์ เอสเตท, เอส อ่างทอง