โบรกเกอร์ แนะ”ซื้อ”หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding company ภายใต้ SCBX หนุนความได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจด้าน Digital เทรนด์อนาคต และจะช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่างๆทำได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้กฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
SCBX แบ่งธุรกิจเป็นกลุ่ม cash cow และ growth โดย Cash cow มีการเติบโตที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ ROE ต่ำ เช่น ธุรกิจธนาคารและการบริหารสินทรัพย์ คิดเป็น 85% ของรายได้ทั้งหมด อีกกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงและ ROE สูง ซึ่งคิดเป็น 15% ของกำไร ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ผู้บริหารตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 150% และธุรกิจที่เติบโตจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดภายในปี 69
นอกจากนี้ แผน 5 ปี ผู้บริหารตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 200 ล้านคนด้วยการร่วมพันธมิตรเชิงรุกและการควบรวมกิจการ จากลูกค้า 40-50 ล้านคนในปัจจุบัน และยังตั้งเป้ามาร์เก็ตแคปมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
SCBX ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยี โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO บริษัท CardX (บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล), Auto X (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์), SCB Securities (พร้อมบริการสินทรัพย์ดิจิทัล) MONIX และ SCB ABACUS (สินเชื่อดิจิทัล) ใน 3-5 ปีข้างหน้า
พักเที่ยงราคาหุ้น SCB อยู่ที่ 131.00 บาท เพิ่มขึ้น 21.50 บาท หรือ 1.22% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย บวก 0.45%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
ดีบีเอสวิคเคอร์ส | ซื้อ | 140.00 |
กสิกรไทย | ซื้อ | 139.00 |
ทรีนีตี้ฯ | ซื้อ | 139.00 |
ยูโอบี เคย์เฮียน | ซื้อ | 136.00 |
ฟินันเซีย ไซรัส | ซื้อ | 136.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 136.00 |
เอเชีย เวลท์ | ซื้อ | 134.00 |
เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ | ซื้อ | 130.00 |
คันทรี่ กรุ๊ป | ซื้อ | 124.50 |
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ | ซื้อ | 122.00 |
ฟิลลิปฯ | ซื้อ | 121.00 |
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู่ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า SCB ได้มีการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding company ชื่อ SCBX จะหนุนให้ได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจที่เป็น Digital ที่เป็นเทรนด์ของอนาคต และจำช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่างๆทำได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้กฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นอกจากนี้จะสามารถร่วมมือพันธมิตรด้านต่างๆได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการขยายฐานลูกค้าของบริษัทได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นการร่วมกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีจี) และร่วมมือกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
“ใน 2 ปี ข้าหน้า ROE มีโอกาสที่จะปรับขึ้นแตะระดับ 15-20% และเรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 28% จากการสำรองที่ปรับตัวลดลง โดยในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางกำไรสุทธิจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่มีการตั้งสำรองในระดับสูง นอกจากนี้ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการขยายธุรกิจในอนาคตหลังจากที่มีการตั้งเป็น Holding company ที่จะได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจด้าน Digital ด้วย”
นายมงคล กล่าว
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการปรับโครงสร้างโดยตั้ง SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้งและเพิกถอนหุ้นด้วย SCBX แบบหุ้นต่อหุ้น 1:1 โดยจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย. โดยจะมีการโอนเงินครั้งเดียวมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทจาก SCB ไปยัง SCBX สำหรับการโอนธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (70% หรือ 4.9 หมื่น ลบ.) และการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสำหรับ SCBx (30% หรือ 2.1 หลื่น ลบ.) คาดว่า SCBx จะจ่ายเงินปันผลพิเศษ 5.1-6.2 บาท/หุ้นในไตรมาส 2/65 ภายใต้ SCBX
ทั้งนี้ ภายใต้ SCBX จะแบ่งธุรกิจเป็นสองกลุ่ม (cash cow และ growth) โดย Cash cow มีการเติบโตที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ ROE ต่ำ เช่น ธุรกิจธนาคารและการบริหารสินทรัพย์ ซึ่งคิดเป็น 85% ของรายได้ทั้งหมด อีกกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงและ ROE สูง ซึ่งคิดเป็น 15% ของกำไรส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ผู้บริหารตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ 150% และธุรกิจที่เติบโตจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดภายในปี 69
นอกจากนี้แผน 5 ปี ผู้บริหารตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 200 ล้านคนด้วยการร่วมพันธมิตรเชิงรุกและการควบรวมกิจการ จากลูกค้า 40-50 ล้านคน ในปัจจุบัน และยังตั้งเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากกว่า 1 ล้านล้านบาท (รวมถึงการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทย่อยและสตาร์ทอัพยูนิคอร์น)
SCBx ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยี โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO บริษัท CardX (บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล), Auto X (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์), SCB Securities (พร้อมบริการสินทรัพย์ดิจิทัล) MONIX และ SCB ABACUS (สินเชื่อดิจิทัล) ใน 3-5 ปีข้างหน้า
พร้อมกันนี้ SCB ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ ADVANC เพื่อจัดตั้ง AISCB ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท เพื่อให้บริการสินเชื่อดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ธนาคารยังได้จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนมูลค่า 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐกับกลุ่มซีพี เพื่อลงทุนในธุรกิจ Fin tech เช่น บล็อกเชนและ Decentralized Finance (DeFi) คือระบบการเงินรูปแบบใหม่ด้วย
ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ปัจจุบันมองแนะนำการลงทุนในหุ้น SCB จากการแนวทางการเปิดเมืองของประเทศไทยที่จะเข้ามาช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และคาดว่าทุกๆธนาคารจะมีการฟื้นตัวเช่นกัน โดย SCB มีปัจจัยเร่งจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ และการลดค่าใช้จ่ายอื่นๆทำให้เลือกเป็น Top Buy ในกลุ่มแบงก์
นอกจากนี้ยังชอบในแนวคิดการปรับโครงสร้าง โดยมีเหตุผลหลักคือ ความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฟินเทคที่กฎระเบียบต่างๆ ยังคงพัฒนาอยู่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าจากบริษัทในเครือผ่านการ IPO ที่คาดการแยกธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันน่าจะนำไปสู่การประเมินมูลค่าที่ดีขึ้น
โดยการจัดตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในระยะสั้น และกดดันแนวโน้มกำไรในช่วงดังกล่าว การแยกธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเนื่องจากการดำเนินการซ้ำซ้อน แต่ประเด็นต้นทุนส่วนนี้จะค่อยๆ หมดไป หลังบริษัทลูกเริ่มสร้างรายได้ คาดกำไรในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากกำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการ IPO หุ้นในเครือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 64)
Tags: Consensus, SCB, ธนาคารไทยพาณิชย์, บล.ทิสโก้, บล.เคทีบีเอสที, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง, มงคล พ่วงเภตร, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย