ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รอบล่าสุดในช่วงวันที่ 21-23 ก.ย. 64 สะท้อนสัญญาณเตรียมลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ในไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่ตลาดประเมินโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปี 65 เพิ่มมากขึ้นตามภาพสะท้อนของ Dot Plot ล่าสุด แม้จะยังคงต้องรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลานั้นอีกที
โดยจากผลการประชุมเฟดดังกล่าว เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปีในช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.ย. 64 ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงดังกล่าว น่าจะสะท้อนข่าวการทำ QE tapering ของเฟดไปค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว ทำให้โอกาสการอ่อนค่าเพิ่มเติมของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลตลาดแรงงานจะออกมาดีกว่าคาดหรือไม่ เพียงใด แต่ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะย่อตัวลงมาได้เช่นกัน
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 64 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสิ่งที่ต้องจับตาสำคัญซึ่งมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 64 จะอยู่ที่ 2 เรื่องหลัก คือ การปรับลดมาตรการ QE ของเฟด แลสถานการณ์โควิด-19 และการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ โดยหากประเมินภาพจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯและไทยแล้ว สัญญาณการเตรียมถอนตัวออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯก่อนสิ้นปี 64 เป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีทิศทางแข็งค่าขึ้น
ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นหากพัฒนาการของเรื่องราวต่างๆ ทำให้เงินบาทโน้มอ่อนค่าชัดเจนขึ้น ผู้นำเข้าอาจต้องพิจารณาทยอยทำสัญญาฟอร์เวิร์ดเพื่อซื้อดอลลาร์สหรัฐฯล่วงหน้าเพื่อบรรเทาผลกระทบบางส่วนต่อมาร์จิน เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 64)
Tags: QE, ค่าเงินบาท, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, เงินบาท, เฟด