บลจ.ยูโอบี (UOBAM) เปิดเผยว่า กองทุนทั้งหมดของ UOBAM ไม่มีการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้ของ Evergrande สำหรับพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ ได้ใช้แนวทางการลงทุนอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะในส่วนของผู้ออกตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield) ที่ไม่ได้ออกหรือจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์
นอกจากนี้ ได้ทยอยปรับลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้จีน เพื่อหลีกเลี่ยงความผันผวนของตลาดที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ากลุ่มตราสารหนี้ดังกล่าวจะมีอันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุนอยู่ในระดับสูงก็ตาม ความผันผวนที่กล่าวมารวมถึง มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อผู้ออกตราสารที่มีความเกี่ยวข้องกับทางการทหารของจีน และการที่ทางการจีนมีมาตรการในการสร้าง “ความมั่งคั่งส่วนรวม (Common Prosperity)” ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการดำเนินธุรกิจในบรรดากลุ่มบริษัทและกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่ม โดยสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจีน รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้ถูกปรับลดลงตามลำดับ และเราจะยังคงมองหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมในจีนเมื่อสถานการณ์การลงทุนเอื้ออำนวย
สำหรับผลกระทบต่อภาคสถาบันการเงิน การให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนในปัจจุบันคิดเป็นประมาณ 7% ของสินเชื่อของธนาคารโดยรวม โดยประมาณ 0.1% ของสินเชื่อที่ให้กลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาฯ เป็นสินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ Evergrande ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของกลุ่มธนาคารในกรณีของ Evergrande ยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้
แม้ว่ามองในภาพกว้าง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาระหนี้อยู่ในระดับสูงอาจจะประสบปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกับ Evergrande แต่จะส่งผลกระทบในลักษณะที่ต่างกันออกไป สำหรับธนาคารขนาดใหญ่สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ จะอยู่ในระดับ 4-7% แต่สำหรับธนาคารขนาดเล็กนั้นสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 10%
ทีมผู้จัดการกองทุนภูมิภาคเอเชียของ UOBAM ยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวังต่อการลงทุนในหุ้นจีน และลดน้ำหนักการลงทุน Underweight การลงทุนในหุ้นจีน และ Underweight การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และธนาคารของจีนด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นของ Evergrande เท่านั้นที่สร้างความกังวล แต่อาจมีความเป็นไปได้ที่ประเด็นดังกล่าวอาจลุกลามและส่งผลกระทบวงกว้างไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ ตามมา เนื่องจาก Evergrande นับเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน แม้ในปัจจุบัน ภายหลังจากที่บริษัทได้ขายสินทรัพย์จำนวนมากออกไปแล้วก็ตาม บริษัทยังคงมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ในมืออีกกว่า 778 โครงการ กระจายไปกว่า 233 เมืองทั่วประเทศจีน
ในขณะที่มีการคาดการณ์กันสูงเกี่ยวกับอนาคตของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ในประเทศจีน ภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่อาจรอดพ้นไปจากความกังวลดังกล่าวได้ มีการคาดการณ์ว่าภาระหนี้ที่สูงของบริษัทนั้นมาจากการกู้ยืมและขอสินเชื่อกับธนาคาร 128 แห่ง และสถาบันการเงินที่อื่นๆ อีก 121 แห่ง ซึ่งตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ Evergrande จะเผชิญกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และนำมาสู่ชนวนวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ของประเทศจีน ซึ่งเห็นได้จากผลกระทบในวงกว้างต่อบรรดาธุรกิจผู้จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ธุรกิจรับก่อสร้าง ผู้ให้กู้/สินเชื่อรวมถึงตลาดตราสารหนี้ในวงกว้าง
ทั้งนี้ Ministry of Housing and Urban-Rural Development ของจีนได้แจ้งธนาคารต่างๆ ที่ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ Evergrande แล้วว่าภาระหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระในวันที่ 20 กันยายน 2564 จะไม่ได้รับการชำระ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตลาดตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ของจีนเองจะได้รับผลกระทบอย่างหนักในรอบปี
อนึ่ง Evergrande ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนได้เผยว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมความเสียหายที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัด แม้ว่าบริษัทได้รับรู้ถึงจำนวนหนี้สินที่มีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐมาในก่อนหน้า แต่สถานการณ์ต่างๆ กลับดูเลวร้ายและแย่ไปกว่าเดิม
สัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ China Chengxin International หรือ CCXI ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของบริษัทลงจากอันดับ AA สู่อันดับ A และมีแนวโน้มว่าอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารจะถูกปรับลดลงไปอีก และในวันต่อมา Hengda Real Estate Group ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้ยื่นเรื่องขอระงับการซื้อขายตราสารหนี้ของตนผ่านตลาดตราสารหนี้ในประเทศ
การแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทดูค่อนข้างเป็นไปได้ยาก สัปดาห์ที่ผ่านมา Evergrande แจ้งนักลงทุนว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทอาจลดลงโดยมี “นัยสำคัญ” อย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน ในขณะเดียวกัน บริษัทยังคงไม่สามารถหานักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ของบริษัท ซึ่งรวมถึงธุรกิจการให้บริการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจลงทุนในพลังงานในรูปแบบใหม่ (New Energy) ที่บริษัทคาดหวังว่าจะขายออกไปเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องของบริษัท
ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงได้ออกมาประกาศว่าบริษัทอาจเผชิญกับปัญหาการขาดสภาพคล่องซึ่งนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ตามมา ดังที่เริ่มมีข่าวออกมาเป็นระยะในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้า จึงไม่น่าแปลกใจที่ราคาหุ้นของ Evergrande จะร่วงลงถึง 80% นับตั้งแต่ต้นปี โดยราคาหุ้นที่ปรับลดลงจะสังเกตเห็นได้ชัดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะยาว อาจมีการพิจารณาถึงแผนการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้โครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่แล้วเสร็จ และเพื่อผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อยและพนักงานลูกจ้างของ Evergrande จากผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 64)
Tags: Evergrande, UOBAM, ตราสารหนี้, ยูโอบี, หุ้น, เอเวอร์แกรนด์