นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า การขยายวงเงินเพดานหนี้สาธารณะของไทยเป็น 70% จากเดิมที่ 60% จะช่วยทำให้ความสามารถในการใช้นโยบายการคลังเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น
แต่ยังคงต้องติดตามว่าการกู้ยืมเงินของภาครัฐที่เพิ่มเข้ามา จะสามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร และในอนาคตยังคงต้องติดตามเรื่องของการเพิ่มรายได้เข้ารัฐจะทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้การที่ภาครัฐจะนำเงินเงินที่ได้ใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปกลับคืนมาเพื่อชำระคืนหนี้ หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาเกี่ยวกับฐานภาษีในอนาคตที่จะเป็นรายได้กลับมาเข้ารัฐในการนำไปชำระคืนหนี้ เพราะเพดานหนี้สาธารณะที่เพิ่มมา 70% มีระยะเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ภาพของเศรษฐกิจไทยในปี 64 ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ -0.5% แต่อาจจะมีการพิจารณาเรื่องการปรับ GDP อีกครั้งในเดิอนต.ค. 64 โดยที่ธนาคารยังคงติดตามในเรื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการในช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา และรอดูว่าภาครัฐจะมีการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมในช่วงเดือนต.ค.ที่จะถึงนี้อย่างไร หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปัจจุบันเริ่มลดลงมาต่อเนื่อง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศบ้าง
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงมาจากภาคการส่งออกที่มีการเติบโตขึ้นอย่างมาก และเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากการที่เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ในยุโรป และสหรัฐฯ ที่กลับมาเปิดเมือง และไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มากเท่ากับประเทศในเอเชีย อีกทั้งเงินบาทที่อ่อนค่ายังเป็นอีกปัจจัยหนุนต่อการส่งออกในปีนี้ให้เติบโตขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลังด้วยเช่นกัน
ด้านภาคการท่องเที่ยวไทยในปี 64 ยังคงเป็นปีที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปีก่อน คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 200,000 คนในปีนี้ จากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งมองว่าภาคการท่องเที่ยวอาจจะยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกสักพักใหญ่กว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาใกล้เคียงกับระดับเดียวก่อนโควิด-19 ในปี 62 โดยยังต้องรอว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะเริ่มเห็นการคลี่คลายลงกันอย่างชัดเจนเมื่อไร แต่ในระยะสั้น มองว่ายังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในประเทศ หลังจากภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาแล้วจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศได้ส่วนหนึ่ง
สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น ธนาคารคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปี 64 แม้ปัจจุบันเงินบาทจะอ่อนค่าทะลุ 33.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯไปแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากถึง 10.3% ตั้งแต่ต้นปี จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อันเนื่องจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่หายไปมาก และมีเงินไหลออกจากประเทศไปส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ทำให้ต่างชาติลดการถือครองตราสารหนี้ โดยจะเห็นว่าต่างชาติเริ่มซื้อตราสารหนี้ลดลงไปมาก จากเดิมที่ซื้อ 8.7 หมื่นล้านบาท/เดือน ซึ่งยิ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก และยังต้องติดตามนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ในโลกช่วงนี้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไป หลังจากทิศทางเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งอาจมีผลกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระยะสั้น
ส่วนผลกระทบจากกรณีบริษัทเอเวอร์แกรนด์ของประเทศจีนนั้น คงต้องติดตามรัฐบาลจีนว่าจะรับมือและจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพราะปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากจีนถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของโลก หากมีปัจจัยที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจของจีนที่มีการกู้ยืมเงินมาก อาจจะส่งผลต่อภาพรวมของโลกได้ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)
Tags: KBANK, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย, ธนาคารกสิกรไทย, นโยบายการคลัง, หนี้สาธารณะ, เศรษฐกิจไทย