นายปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติให้ความเห็นกรณีสื่อต่างประเทศเผยแพร่ข้อมูลข่าวมีข้อมูลของนักท่องเที่ยวต่างประเทศและคนไทยย้อนหลังไป 10 ปี จำนวน 106 ล้านราย รั่วไหลออกไปว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานที่รับผิดชอบการจะมีการรั่วไหลจริงหรือไม่ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้แถลงชี้แจงจะดีกว่า
ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่ประชาชนควรตระหนักคือถ้าข้อมูลรั่วไหลไปแล้วจะต้องทำอย่างไร การปฎิบัติตัวในระดับประชาชน ให้เปลี่ยนหรือจัดทำเอกสารส่วนตัว เช่น หนังสือเดินทาง บัตรเครดิต ใหม่ทั้งหมด เพราะการแจ้งหายแล้วทำใหม่จะทำให้หมายเลขบัตรและข้อมูลใหม่ ส่วนอะไรที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น หลายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ก็ต้องปล่อยไป อะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ขอให้เปลี่ยนแปลงเพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเอาข้อมูลไปใช้
สำหรับการป้องกันระดับหน่วยงาน องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน กรณีที่เป็นข่าวน่าจะมีตั้งแต่กระทรวงการต่างประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ ควรปรับปรุงหรือทบทวนการประเมินความเสี่ยงทางไซเบอร์ใหม่ทั้งหมด แล้วลองทดสอบการเจาะระบบ เฝ้าระวังการจราจรทางเครือข่ายขององค์กรตลอด 24 ชั่วโมงเฝ้าระวังแบนด์วิธของเครือข่าย อย่ารอให้เกิดความเสียหายแล้ว หรือมีการเอาข้อมูลออกไปประกาศขายบน Dark Web แล้วจึงดำเนินการ
นายปริญญา กล่าวอีกว่า ในระดับประเทศผู้บริหารสูงสุด ควรออกมาแสดงความเชื่อมั่น เพราะเรากำลังจะเปิดประเทศรับการท่องเที่ยว ควรจะสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ แล้วสร้างความเชื่อมั่นด้วยการแสดงถึงมาตรการในการป้องกันดูแล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ การคิดว่าขณะนี้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่มีผลบังคับใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์คงไม่ได้ ตนเชื่อว่าหลังสิ้นสุดกำหนดการไม่บังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ บางมาตรา หรือหลังวันที่ 1 มิ.ย. 65 จะมีการปล่อยข้อมูลที่ถูกคุกคามออกมาอีกจำนวนมากออกมาสู่สาธารณะ เพราะอาจมีความเป็นไปได้ว่ามีการบุกรุกเครือข่ายแล้วนำข้อมูลออกไปเก็บไว้ก่อนแล้ว ก่อนจะนำมาเปิดเผยซึ่งถึงวันนั้นก็จะมีแต่ความเสียหาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)
Tags: ข้อมูลรั่ว, ข้อมูลส่วนบุคคล, ความมั่นคงทางไซเบอร์, ปริญญา หอมเอนก