ย้อนไปเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา สื่อกระแสหลักทั่วโลกได้แพร่ภาพชาวจีนจำนวนมากบุกเข้าไปในอาคารสำนักงานบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ทั้งในเมืองเซินเจิ้นและอีกหลายเมืองทั่วประเทศจีนเพื่อขอเงินดาวน์คืน หลังมีข่าวว่าบริษัทได้ระงับการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากเนื่องจากขาดแคลนเงินทุนและมีหนี้สินก้อนโต ชาวจีนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของลูกค้าเอเวอร์แกรนด์กว่า 1.5 ล้านรายที่วางเงินดาวน์เพื่อซื้อโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง โดยพวกเขาต่างก็กังวลว่าหากบริษัทไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เงินที่วางไว้ก็อาจสูญเปล่า
การประท้วงที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานเอเวอร์แกรนด์เกิดขึ้นต่อเนื่องกันหลายวัน และหนักที่สุดคือวันที่เอเวอร์แกรนด์ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า บริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องและอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
แถลงการณ์ดังกล่าวได้จุดปะทุให้ลูกค้าของเอเวอร์แกรนด์ยิ่งโกรธแค้นและปักหลักประท้วงหน้าอาคารของบริษัท เดือดร้อนถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและตำรวจต้องวางกำลังหนาแน่นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงเข้าไปทุบทำลายทรัพย์สินในอาคาร ขณะที่สื่อบางสำนักแพร่ภาพลูกค้าหลายรายของเอเวอร์แกรนด์ร้องตะโกนและร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ บางรายรู้สึกเครียดจนเป็นลมล้มไปกองกับพื้น นั่นอาจเพราะเงินที่พวกเขาทุ่มลงทุนไปนั้นเป็นก้อนสุดท้ายในชีวิต
ปัญหาสภาพคล่องและการเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า วิกฤตหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์อาจสร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากบริษัทได้กู้เงินมาเป็นเวลาหลายปีเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน โดยมีการประเมินว่า ขณะนี้เอเวอร์แกรนด์มีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน
“เอเวอร์แกรนด์ แพนิค” ทุบตลาดหุ้นโลก ฮั่งเส็งดิ่งเหว-ดาวโจนส์ร่วงวันเดียวกว่า 600 จุด
ความตื่นตระหนกเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์เป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นเอเชียอยู่นานหลายวัน โดยเฉพาะตลาดหุ้นฮ่องกงที่ดิ่งลงเป็นส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่แล้วและลากยาวมาจนถึงสัปดาห์นี้ ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลงวันเดียวกว่า 600 จุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 ก.ย.) โดยดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ พุ่งขึ้นเหนือระดับ 28 ในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.
นอกจากนี้ นักลงทุนได้ส่งสัญญาณหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง โดยสะท้อนจากการพุ่งขึ้นของ CDS (Credit Default Swap) ของหุ้นกู้จีนแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี ขณะที่ CDS ของหุ้นกู้ยุโรปพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. โดย CDS เป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อใช้ในการป้องกันความเสี่ยงของตราสารหนี้จากการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือ หรือการผิดนัดชำระหนี้
ไม่เพียงแต่ตลาดหุ้นเท่านั้น แรงกระเพื่อมของ “เอเวอร์แกรนด์ แพนิค” ยังลามไปถึงตลาดคริปโตเคอร์เรนซี โดยราคาบิตคอยน์ทรุดตัวลง 10% เมื่อวันจันทร์ หลุดระดับ 44,000 ดอลลาร์ในการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coinbase ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่า แม้ว่าบิตคอยน์มักถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ความจริงก็คือ บิตคอยน์มักร่วงลงตามการปรับตัวลงของสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และที่ผ่านมามักดีดตัวขึ้นสอดคล้องการปรับตัวของสินทรัพย์เสี่ยง
ส่วนในวันอังคาร (21 ก.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงต่อเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เอเวอร์แกรนด์ และในวันนี้ (22 ก.ย.) ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลงถ้วนหน้า รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นจีนซึ่งประเดิมการซื้อขายวันแรกร่วงลง 1.4% หลังจากที่ปิดทำการเป็นเวลา 2 วันเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์
ลอกคราบ “เอเวอร์แกรนด์” ยักษ์ใหญ่วงการอสังหาฯที่เสี่ยงตกบัลลังก์
เอเวอร์แกรนด์ซึ่งมีชื่อเดิมว่า เหิงต้า กรุ๊ป (Hengda Group) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 โดยนายสู เจียหยิน มหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งของจีน
ในปี 2560 ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์พุ่งขึ้นจากความแข็งแกร่งของรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า และจากนั้นในเดือนมิ.ย. 2562 นายสูได้เลื่อนชั้นขึ้นเป็นบุคคลที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 3 ของจีน ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 3.04 หมื่นล้านดอลลาร์
เอเวอร์แกรนด์ติดทำเนียบบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีนเมื่อพิจารณาจากยอดขาย และใหญ่เป็นอันดับที่ 122 ของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ จากการจัดอันดับของ “Fortune Global 500” ประจำปี 2564
การเติบโตอย่างหวือหวาของเอเวอร์แกรนด์ได้กลายเป็นสปอตไลท์ที่สาดเข้าตารัฐบาลจีนซึ่งพยายามควบคุมความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์มาโดยตลอด โดยในช่วงปลายไตรมาส 1/2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของจีนได้เรียกร้องให้บรรดาธนาคารเจ้าหนี้ทำการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของเอเวอร์แกรนด์ซึ่งมีหนี้สินจำนวนมากถึง 7.165 แสนล้านหยวน (1.11 แสนล้านดอลลาร์) ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินมากที่สุดของจีน
กระทั่งในวันที่ 16 ก.ค.ปีนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับดูแลของจีนได้สั่งการให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งรวมถึงเอเวอร์แกรนด์ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการออกตราสารหนี้ในรายงานประจำเดือนของบริษัท หลังพบว่าบริษัทเหล่านี้มีการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า บรรดาบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีการออกหุ้นกู้ใหม่ในปี 2563 จำนวนมากถึง 3.6 ล้านล้านหยวน (5.56 แสนล้านดอลลาร์) พุ่งขึ้น 20% จากระดับของปี 2562 ซึ่งเป้าหมายของการออกหุ้นกู้เหล่านี้ก็เพื่อระดมเงินทุนให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้
ต่อมาในเดือนส.ค.ปีนี้ ยักษ์ใหญ่ระดับสากลอย่างเอเวอร์แกรนด์ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานว่า บริษัทรับเหมาจำนวนมากได้พากันยื่นฟ้องศาลในประเทศจีนให้ดำเนินคดีกับเอเวอร์แกรนด์ในข้อหาจ่ายหนี้ล่าช้า นอกจากนี้ในวันที่ 19 ส.ค. ธนาคารกลางจีนได้เรียกตัวผู้บริหารของเอเวอร์แกรนด์เข้าพบ และออกคำเตือนให้เอเวอร์แกรนด์เร่งใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงด้านหนี้สินและให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพของธุรกิจ ซึ่งไม่บ่อยนักที่ธนาคารกลางจีนตัดสินใจออกโรงเตือนบริษัทเอกชนอย่างเจาะจงด้วยตนเอง และสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ของเอเวอร์แกรนด์เริ่มไม่ชอบมาพากล
รัฐบาลจีนไม่หยุดเพียงเท่านั้น โดยในวันที่ 1 ก.ย. จีนออกมาตรการควบคุมความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ครั้งใหม่ โดยกำหนดว่าค่าเช่าบ้านในเมืองต่าง ๆ จะต้องไม่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 5% ต่อปี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จีนออกฎควบคุมราคาค่าเช่าบ้าน พร้อมกับเตือนว่าจะกวาดล้างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของบริษัทอสังหาริมทรัพย์และแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ออนไลน์ เช่นการเรียกเก็บค่าเช่าที่สูงเกินไป โดยมาตรการดังกล่าวเป็นหนึ่งในความพยายามของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่ให้คำมั่นว่าจะลดความไม่เสมอภาคด้านความมั่งคั่ง และต้องการบรรลุเป้าหมายการสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างเท่าเทียมกันตามค่านิยมของระบอบคอมมิวนิสต์
ในช่วงต้นเดือนก.ย. สื่อหัวใหญ่ประโคมข่าวว่า เอเวอร์แกรนด์มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้การจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในเดือนก.ย. โดยในวันที่ 23 ก.ย. บริษัทมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ย 83.5 ล้านดอลลาร์ของหุ้นกู้ที่ครบอายุเดือนมี.ค. 2565 และในวันที่ 29 ก.ย.นี้ บริษัทมีกำหนดจ่ายดอกเบี้ย 47.5 ล้านดอลลาร์ของหุ้นกู้ที่ครบอายุเดือนมี.ค. 2565
หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยเมื่อถึงวันกำหนดชำระดังกล่าว ทางบริษัทจะมีเวลาอีก 30 วันเพื่อทำการชำระ และหากบริษัทยังคงไม่สามารถชำระดอกเบี้ยก็จะถือว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ และคาดว่านักลงทุนกว่า 1.5 ล้านรายที่เข้าซื้อหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์จะได้รับส่วนแบ่งการชำระคืนในสัดส่วนต่ำ
วิตก “เอเวอร์แกรนด์” ล้มละลายตามรอย “เลห์แมน บราเธอร์ส” หากรัฐไม่อุ้มกิจการ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2551 คงไม่มีข่าวไหนที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกได้รุนแรงเท่ากับข่าวเลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลาย เพราะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินของสหรัฐ และถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี
การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ทำเอาโลกทุนนิยมทั้งใบสั่นคลอน เพราะแทบไม่มีใครเชื่อว่า “พี่ใหญ่” แห่งแวดวงสถาบันการเงินของสหรัฐจะม้วนเสื่อกลับบ้านก่อนเวลาอันควร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับหัวแถวมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สนั้น รุนแรงจนเข้าข่าย “Great Depression” เพราะแรงกระเพื่อมของเลห์แมนส่งผลกระทบต่อภาคการเงินอย่างรุนแรงจนคาดไม่ถึง
ฝันร้ายที่เกิดขึ้นจากกรณีของเลห์แมน บราเธอร์สทำให้หลายคนกังวลใจว่า การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการอสังหาริมทรัพย์จีนรายนี้อาจสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อทั้งเศรษฐกิจจีนและทั่วโลก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของจีน โดยมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30% นอกจากนี้ การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังบริษัทอื่น ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน
สหรัฐซึ่งเคยมีประสบการณ์จากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ออกแถลงการณ์พร้อมใช้มาตรการรับมือผลกระทบของเอเวอร์แกรนด์หากจำเป็น และประกาศจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะมีการประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นระยะ
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จริงของจีนในปี 2564 เหลือเพียง 8% จากระดับ 8.3% และปรับลด GDP ของปี 2565 จาก 6.2% เหลือเพียง 5.3% เนื่องจากผลกระทบอันเกิดจากปัญหาหนี้ของเอเวอร์แกรนด์
แม้นักวิเคราะห์บางกลุ่มเชื่อว่าในท้ายที่สุดรัฐบาลจีนจะเข้าช่วยเหลือเอเวอร์แกรนด์และไม่ปล่อยให้เกิดการล้มละลาย เนื่องจากจะสร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อระบบการเงินของจีน… แต่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) คาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะไม่ให้ความช่วยเหลือโดยตรง เพราะเกรงว่า “โมเดลอุ้มเอเวอร์แกรนด์” จะกลายเป็นแบบอย่างให้จีนต้องพยุงกิจการบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายอื่น
จับตาท่าที “สี จิ้นผิง” หลังสื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนหนุนรัฐลอยแพ “เอเวอร์แกรนด์”
สิ่งที่ทั่วโลกจับตาอย่างใกล้ชิดในเวลานี้ คือการแสดงท่าทีและความคิดเห็นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มีต่อกรณีของเอเวอร์แกรนด์ หลังจากที่ปธน.สีเป็นผู้ออกคำสั่งให้กวาดล้างพฤติกรรมมิชอบในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และออกกฎระเบียบควบคุมภาคส่วนนี้อย่างเข้มงวด
แต่นับจนถึงขณะนี้ รัฐบาลจีนออกมาเคลื่อนไหวแค่เพียงการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินจำนวน 9 หมื่นล้านหยวน (1.88 หมื่นล้านดอลลาร์) เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว และอัดฉีดเงินอีกจำนวน 1 แสนล้านหยวนในวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อรองรับความต้องการเงินสดของประชาชนในช่วงวันหยุดเทศกาลไหว้พระจันทร์
การใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวของปธน.สี จิ้นผิงทำให้หลายฝ่ายตีความว่า รัฐบาลจีนอาจจะไม่โอบอุ้มเอเวอร์แกรนด์ โดยเฉพาะเมื่อนายหู สีจิน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์สซึ่งเป็นสื่อกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกมาแสดงความเห็นว่า เอเวอร์แกรนด์ควรใช้ตลาดเป็นช่องทางในการปกป้องบริษัท และไม่ควรคาดหวังให้รัฐบาลจีนเข้าอุ้มกิจการตามที่บริษัทนิยามตนเองว่า “ใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้ม” (too big to fail) นอกจากนี้ นายหูเชื่อว่า การล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์จะไม่ส่งผลกระทบด้านการเงินในเชิงระบบเหมือนกับในช่วงที่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลาย
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์แนะนำว่า รัฐบาลจีนไม่ควรนิ่งเฉย และควรส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าทางรัฐบาลมีแผนการอย่างไรในการยับยั้งไม่ให้วิกฤตการณ์ของเอเวอร์แกรนด์ลุกลามจนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ขณะที่นักวิเคราะห์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดในฮ่องกงกล่าวว่า การใช้ความเงียบของรัฐบาลจีนและไม่ออกมารตรการใด ๆ ที่จำเป็น กำลังทำให้ทุกฝ่ายตื่นตระหนก
“ผมคาดหวังว่า อย่างน้อยรัฐบาลจีนก็ควรพูดอะไรบ้างในเรื่องนี้ เพื่อให้บรรยากาศในตลาดคลายความกังวลลง”
นายฉวง ติ้ง นักวิเคราะห์ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์กล่าว
ความเงียบของสี จิ้นผิง ทำเอาหลายฝ่ายใจคอไม่ดีว่า รัฐบาลจีนจะยอมอุ้มเอเวอร์แกรนด์ให้รอดพ้นจากวิกฤต หรือปล่อยให้บริษัทรายนี้เผชิญปัญหาด้วยตัวเอง เพราะเรียนผูกก็ต้องเรียนแก้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)
Tags: ผิดนัดชำระหนี้, สี จิ้นผิง, หุ้นกู้, อสังหาริมทรัพย์, เอเวอร์แกรนด์, ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป