ราชวิทยาลัยฯ เตรียมนำเข้ายา “โมโนโคลนอล แอนติบอดี” เพิ่มทางเลือกรักษาโควิด

นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และแผนการจัดการการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในอนาคตว่า การดูแลผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. 64 ที่ผ่านมา จนถึงการติดเชื้อในประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวันนั้น ถือเป็นภาระที่หนักมากต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงส่งผลกระทบทางสังคมเป็นอย่างมากตามมาด้วยเช่นกัน ดังนั้นการได้รับวัคซีน หรือยาต้านไวรัสที่รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น จะทำให้ประชาชนสามารถกลับไปชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโรคโควิดนี้จะอยู่กับโลกนี้ไปอีกสักระยะ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากพอ ยารักษาที่เพียงพอ รวมถึงการเข้าสู่ระบบการตรวจรักษาที่รวดเร็ว แต่ในระหว่างนี้จำเป็นต้องมีระบบการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ตั้งแต่ขั้นตอนการดูแลป้องกันตัวเอง การเรียนรู้และเข้าใจในโรคให้ได้มากขึ้น รวมทั้งการลดช่องทางที่จะนำไปถึงจุดการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อช่วยบรรเทาภาระด้านสาธารณสุขของประเทศ

นพ.นิธิ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะเป็นส่วนหนึ่งในการจัดหา และกระจายยา “โมโนโคลนอล แอนติบอดี” ซึ่งยาชนิดนี้เป็นยาแอนติบอดีค็อกเทล ตัวแรกที่ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 โดยตรง ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้ร่างกายผู้ติดเชื้อสามารถต่อสู้กับไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและยับยั้งการติดเชื้อได้

“จุดสำคัญที่ราชวิทยาลัยฯ ทำ คือ จะนำเข้าและกระจายยาโมโนโคลนอล แอนติบอดีให้กับ รพ.ต่างๆ และร่วมกับ รพ.ต่างๆ ในการจ่ายยานี้ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ประเทศเราจะได้ทดสอบยาตัวนี้ ไม่อยากให้การรักษาโควิดจำกัดอยู่แค่การฉีดวัคซีน” นพ.นิธิกล่าว

สำหรับการทำงานของยาแอนติบอดีค็อกเทลนี้ จะสามารถทำให้ไวรัสอ่อนกำลังลง โดยตรงเข้าจับกับโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งอยู่บนผิวของไวรัส จึงสามารถยับยั้งการติดเชื้อภายในร่างกายได้ทันที นอกจากนี้ ตัวยายังสามารถยับยั้งไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ได้ ช่วยลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

สำหรับแผนการใช้ยาแอนติบอดีค็อกเทล เพื่อรักษาผู้ป่วยในไทยนั้น “ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี” จะใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 10 วัน มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้มีโรคอ้วน, โรคหลอดเลือดหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, โรคปอดเรื้อรัง, โรคหอบหืด, โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคตับ และภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ยังมีข้อมูลจำกัดในการใช้ยาดังกล่าวกับหญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร รวมทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

“ยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี จะจับไม่ให้ไวรัสโควิดเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย ถ้าเริ่มใช้ตั้งแต่มีอาการแรกๆ จะทำให้หายเร็วขึ้น อาการไม่รุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิต ช่วยทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ง่ายขึ้น ไม่เป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขมากนัก” นพ.นิธิกล่าว

ด้าน นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศเริ่มคลี่คลายลงบ้างจากที่ก่อนหน้านี้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งในช่วงนั้นจะมีผู้ป่วยที่อาการหนักมากถึง 5% แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ดี หลังจากที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการและเริ่มมีการเปิดกิจการกิจกรรมต่างๆ กันมากขึ้น อาจจะทำให้เห็นการระบาดกลับมามากขึ้นอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าการระบาดรอบนี้ตัวเลขจะไม่สูงชันเหมือนการระบาดในรอบที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน อาจจะยังต้องขอความร่วมมือประชาชนในการลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง ยังคงต้องให้มีการทำงานที่บ้าน (work from home) ตลอดจนการปฏิบัติตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด เพราะหากทุกคนไม่ร่วมมือกัน ก็ยากที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดได้ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะแม้จะไม่มีวัคซีนตัวใดที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่วัคซีนก็สามารถลดการเจ็บป่วยรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตได้

นพ.กำธร กล่าวว่า การต่อสู้กับไวรัสที่พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดนั้น จำเป็นต้องมีวิธีการรักษาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน หรือยาชนิดต่างๆ ที่มีการคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อให้ทันกับพัฒนาการของไวรัส ซึ่งยาโมโนโคลนอล แอนติบอดี ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเพิ่มให้อาวุธในการต่อสู้กับไวรัสโควิดมีความหลากหลายมากขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งปีถึงจะสามารถเริ่มใช้ยาตัวนี้กับผู้ป่วยโควิดได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , ,
Back to Top