นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้ (20 ก.ย.) เห็นชอบในหลักการการจัดทำระบบขนส่งสาธารณะเพื่อการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง(สถานีรังสิต) หรือ ระบบ Feeder รถไฟฟ้าสายสีแดง ตามมติ อจร. จังหวัดปทุมธานี
โดยใช้รถโดยสารขนส่งมวลชนแบบพิเศษตามมติคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดปทุมธานี และคณะอนุกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาจราจรและขนส่งระยะเร่งด่วนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และให้จังหวัดปทุมธานี กรมการขนส่งทางบก และกรมทางหลวง ดำเนินการพัฒนาเพื่อรองรับการเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และรายงานผลการดำเนินการให้ คจร.รับทราบ
สำหรับระบบ Feeder เข้าสู่สถานี รถไฟฟ้ารังสิต (สายสีแดง) มีจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่
- เส้นทางที่ 1 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ธัญบุรีคลอง 7ใช้เส้นทางถนนรังสิต-นครนายก (ทล.305 ) ระยะทางประมาณ 19.3 กม.
- เส้นทางที่ 2 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ใช้เส้นทางถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนคลองหลวงหน้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) ระยะทางประมาณ 19.1 กม. เป็นระยะแรกก่อนหากสถานีรถไฟฟ้า ม. ธรรมศาสตร์ (รังสิต) เปิดใช้ ก็พิจารณาปรับเส้นทางต่อไป
- เส้นทางที่ 3 สถานีรถไฟฟ้ารังสิต – แยก คปอ. ใช้เส้นทางถนนพหลโยธิน ระยะทางประมาณ 10.6 กม.
โดยรูปแบบการเดินรถของระบบ Feeder ตามตารางเดินรถที่สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า (On Schedule Services) รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transport) และรองรับการให้บริการกับทุกคน (Inclusive Transport) และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการหาผู้ประกอบการเดินรถด้วยมาตรฐาน EV รองรับผู้พิการ โดยรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และนำเข้าสู่การพิจารณาของ คกก. ขนส่งทางบกกลางต่อไป
และให้จังหวัดปทุมธานีและกรมทางหลวง ดำเนินการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเส้นทางได้แก่ เส้นทางที่ 1 บนถนน ทล.305 ได้แก่ (ก) Smart Bus Stop (ข) ทางเชื่อมสะพานลอยคนข้ามที่เกาะกลาง (ค) ช่องทางพิศษ(Reversible Bus Lane) และ (ง) สัญญาณไฟควบคุมช่องทางพิเศษ เส้นทางที่2 และ 3 บนถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน ได้แก่ Smart Bus Stop
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำขอให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อช่วยพัฒนาระบบคมนาคม และแก้ไขปัญหาการขนส่งและจราจรให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินงาน สามารถขับเคลื่อนแผนต่าง ๆ ให้ได้ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป
นอกจากนี้ คจร.ยังเห็นชอบ ร่างโครงข่ายแผนแม่บท MR – Map ที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ซึ่งมีโครงข่าย เบื้องต้น 10 เส้นทาง โดยมีระยะทางรวม 6,530 กิโลเมตร ประกอบด้วยเส้นทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับเส้นทางระบบราง 4,470 กิโลเมตร เส้นทางเฉพาะทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 1,710 กิโลเมตร และเส้นทางเฉพาะระบบราง 350 กิโลเมตร
และได้พิจารณา 4 โครงการนำร่องที่มีศักยภาพ ได้แก่ 1. เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 91 กิโลเมตร 2. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 283 กิโลเมตร 3.เส้นทาง MR2 หนองคาย (ด่านหนองคาย) – แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง ระยะทาง 297 กิโลเมตร และ 4. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี ระยะทาง 404 กิโลเมตร
โดยเห็นว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับการบูรณาการระหว่างระบบรางและถนนในการพัฒนาโครงข่ายให้เป็นระบบเชื่อมโยงโครงข่ายภายในประเทศและต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางถนน ทางรางทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจและประตูการค้า แก้ปัญหาจราจร ลดปัญหาการเกิดคอขวดของการเดินทางทั้งระบบถนนและระบบรางของทั้งประเทศ
อีกทั้งได้รับทราบการพัฒนาและดำเนินงานติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษทั้งระบบ และเห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยองเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan : EPMP) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพิจารณาผลักดันแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 64)
Tags: กระทรวงคมนาคม, ขนส่งมวลชน, ขนส่งสาธารณะ, ประวิตร วงษ์สุวรรณ, รถไฟฟ้าสายสีแดง, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ