บรรดาผู้เชี่ยวชาญและบริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเปิดเผยกับ CNBC ว่า ไวรัสโควิด-19 คือสัญญาณเตือนของการต่อสู้กับวิกฤตขยะอาหาร (food waste crisis) ของโลกโดยด่วน
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า โควิด-19 ได้เผยให้เห็นถึงช่องโหว่ของเครือข่ายซัพพลายเชนในช่วงเวลาที่ทั่วโลกออกมาตรการล็อกดาวน์และห้ามการเดินทาง โดยได้ส่งผลกระทบด้านแรงงานในภาคการเกษตร การขนส่ง และโลจิสติกส์จนเกิดภาวะคอขวด เป็นเหตุให้อาหารขาดแคลนและราคาพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก
นายวิลเลียม เฉิน ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์กล่าวว่า “โควิด-19 คือสัญญาณเตือนชั้นดี ก่อนเกิดโควิด-19 นั้น ผู้คนไม่ค่อยจะจริงจังกับเรื่องภาวะโลกร้อนเพราะอาหารการกินยังหาได้ง่าย แต่ตอนนี้ผู้คนเริ่มให้ความสนใจแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้ยกเครื่องระบบปัจจุบัน” นายเฉินกล่าว
ทั้งนี้ ขยะอาหารยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่มีการผลิตทั้งหมดหรือคิดเป็น 1.3 พันล้านตันนั้น กลายเป็นขยะอาหารหรือสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ รายงานอีกฉบับของสหประชาชาติยังเผยให้เห็นว่า ขยะอาหารคิดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 8-10% อีกด้วย
บริษัทบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป เผยว่าการลดขยะอาหารจะช่วยประหยัดเงินได้ถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนธุรกิจต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็เข้าร่วมตามเทรนด์การลดขยะอาหาร ตลอดจนการแจกจ่ายและรีไซเคิลอาหารส่วนเกินด้วยเช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ย. 64)
Tags: food waste crisis, บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป, ภาวะโลกร้อน, สิงคโปร์, องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ, อาหาร