บมจ. อุบล ไบโอ เอทานอล (UBE) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 1,370 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.40 บาท/หุ้น โดยจะเปิดให้จองซื้อในช่วงวันที่ 21-23 ก.ย.นี้ และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
สำหรับหุ้นที่จะนำมาเสนอขายครั้งนี้ คิดเป็น 35% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ประกอบด้วย
(1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยบริษัทจำนวนไม่เกิน 1,174,286,000 หุ้น
(2) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) จำนวนไม่เกิน 97,857,000 หุ้น
(3) หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย บมจ. ไทยออยล์ เอทานอล จำนวนไม่เกิน 97,857,000 หุ้น
UBE เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังรายใหญ่ของประเทศไทย โดยมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจมากว่า 16 ปี เป็น “Well-Integrated Tapioca Player” หรือ ผู้ผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบผลิตทั้งเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งได้นำวัตถุดิบมันสำปะหลังเข้าสู่กระบวนการผลิตมากถึง 1,200,000 ตันต่อปี
บริษัทยังได้ศึกษาและพัฒนา เพื่อนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต เช่น น้ำใช้จากกระบวนการผลิตและกากมันสำปะหลังมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในโรงงานผลิตเอทานอลและแป้งมันสำปะหลัง และผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนภายในโรงงานและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังขยายสู่การผลิตและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูง (High Value Product หรือ HVP) ชนิดอื่นๆ พร้อมอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรประเภทอื่นๆ โดยมีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีมูลค่าสูงและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Premium Agricultural Products) เพื่อผลักดันองค์กรเติบโตไปพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของภาครัฐ
นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ UBE เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมนำเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ใน 2 ส่วน ได้แก่ 1. การลงทุนในช่วง 3 ปี (65-67) จำนวน 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ในธุรกิจแป้งมันสำปะหลังและแป้งฟลาวมันสำปะหลัง (Cassava Flour) ราว 70% โดยจะใช้ขยายกำลังการผลิตของแป้งฟลาวฯจาก 30,000 ตันต่อปี เป็น 90,000 ตันต่อปี และ เพิ่มสายการผลิตใหม่ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการปรับปรุงสายการผลิตเดิม เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้นและลดต้นทุนในการผลิตลง, ใช้ในธุรกิจเอทานอล 20%
นอกจากนั้น จะนำไปใช้รองรับการขยายกำลังการผลิตในระยะสั้นประมาณ 40,000 ลิตรต่อวัน ผ่านการทำ De-bottlenecking Capacity ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถ เพิ่มกำลังการผลิตได้เต็ม Capacity ที่ประมาณ 400,000 ลิตรต่อวัน และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ 10% ในการลงทุนโรงสี โรงคั่วกาแฟออร์แกนิค รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหนุมเวียนในบริษัท
การเข้าระดมทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจในอนาคต โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตในช่วง 3-5 ปีจากนี้ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเอทานอล จะรักษาความได้เปรียบด้านต้นทุนที่เหนือกว่าคู่แข่ง ผ่านการดำเนินกลยุทธ์เสริมสร้างประสิทธิภาพความยืดหยุ่นด้านวัตถุดิบ หรือสามารถใช้วัตถุดิบที่หลากหลายในการผลิตเอทานอล และมุ่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเอทานอล เพื่อรองรับความต้องการใช้เอทานอลที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะอันใกล้ โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตของโรงงานเอทานอลผ่านการทำ De-bottlenecking Capacity
โดยยังคงนโยบายลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastic)
ขณะที่ธุรกิจแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิค ได้วางกลยุทธ์ มุ่งเน้นการผลิตและจำหน่าย แป้งมันสำปะหลังที่เป็นออร์แกนิค หรืออินทรีย์ ซึ่งมีการเติบโตทั้งปริมาณการขายที่สูง และมีอัตรากำไรสูงด้วย โดยปัจจุบันมีการผลิต 4 หมื่นตันต่อปี จะเพิ่มเป็น 1 แสนตันต่อปี ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า (64-68) และจะลดการผลิตแป้งมันสำปะหลังแบบทั่วไป (Cassava Starch) ลงจากปัจจุบัน 1.1 แสนตันต่อปี เหลือเพียง 4-5 หมื่นตันต่อปี เนื่องจากอัตรากำไรต่อหน่วยของแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคสูงกว่า 3 เท่า รวมถึงขยายกำลังการผลิตแป้งฟลาวฯ 250-300 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายในอนาคตหรือปี 69 ธุรกิจดังกล่าวจะมีสัดส่วนรายได้จากการขายแป้งฟลาวฯและแป้งออร์แกนิค เป็น 80% จากปัจจุบันอยู่ที่ 33%
นอกจากนี้จะมีการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าสูงไปกับเทรนด์ของสุขภาพ หรือ สารให้ความหวานอินทรีย์ (Organic Syrup) โดยมีแผนขยายโครงการลงทุนเพื่อเพิ่มสายการผลิตผลิตภัณฑ์สารให้ความหวาน เช่น ไซรัป (Syrup) และมอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextrin) ถือเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพตามเทรนด์การบริโภคอาหารแห่งอนาคต
สำหรับธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่ายสินค้ากาแฟออร์แกนิค และข้าวออร์แกนิคที่ได้รับมาตรฐานออร์แกนิกสากล เพื่อเน้นส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งในปี 65 บริษัทมีแผนนำกาแฟและข้าวออร์แกนิคมาพัฒนาเป็นแบรนด์ของตัวเอง เพื่อต่อยอดไปสู่จุดหมายการเป็นผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์ และพร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยชั้นนำของโลก โดยจะดำเนินการควบคู่กับธุรกิจพลังงาน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว
“แผนการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจเอทานอล จะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจดังกล่าวโดยการรักษาความได้เปรียบด้านต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลพลอยได้จากกระบวนการการผลิต, ธุรกิจผลิตและจำหน่ายแป้งมันสำปะหลัง มุ้งเติบโตผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคและแป้งฟลาว รักษาความเป็นผู้นำในตลาดและเติบโตผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคอื่นๆ และ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ ผ่านการขยายพื้นที่เพราะปลูก และการสร้างเครือข่ายเกษตรกรที่เข้มแข็งรวมถึงแสวงหาโอกาสการลงทุนอื่นๆ เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูงออกสู่ตลาด”
นายเดชพนต์ กล่าว
นายชุณห์ โภไคศวรรย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบัญชีและการเงิน UBE กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีรายได้มีจากการขายรวม 2,946.11 ล้านบาท เติบโต 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,104.23 ล้านบาท โดยธุรกิจเอทานอลมีสัดส่วนรายได้ 47% ธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง 50% และธุรกิจเกษตรอินทรีย์ 3%
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งให้กลุ่มผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ใส่ใจในการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดสารพิษ หรือที่เรียกว่า Organic Food ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 15,600 ตันในปี 62 เป็น 22,000 ตันในปี 63 และเพิ่มเป็น 26,100 ตันในครึ่งปีแรกของปี 64
ขณะเดียวกันธุรกิจเอทานอล ยังคงมีรายได้จากการจำหน่ายเอทานอลที่เพิ่มต่อเนื่อง โดยมีการกระจายฐานผู้ค้าน้ำมันให้หลากหลายมากขึ้นในการจำหน่ายเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง ประกอบกับบริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมจากการได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราวจากภาครัฐให้สามารถจำหน่ายเอทานอลเกรดอุตสาหกรรม เพื่อนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ส่วนกำไรสุทธิใน 6 เดือนแรกของปี 64 มีผลกำไร 106.6 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วทั้งปีที่ 99.3 ล้านบาท หลังกำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้น และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่น
ด้านนางยอดฤดี สันตติกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า การกำหนดราคาหุ้น IPO ของ UBE ที่ราคา 2.40 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการเติบโตและแผนการลงทุนที่ชัดเจน ประกอบกับโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต รวมถึงมีความสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ขณะที่ระดับราคาดังกล่าวคิดเป็นระดับ P/E ที่ราว 49 เท่า แม้จะดูค่อนข้างสูง แต่มองว่านักลงทุนควรจะดูการเติบโตในอนาคตมากกว่า เพราะบริษัทมีอัตราการเติบโตที่สูง ซึ่งจะทำให้ระดับ P/E จะลดลงในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 64)
Tags: IPO, SET, UBE, หุ้นไทย, อุบล ไบโอ เอทานอล, เดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์