WHY INCLUSIVE PRODUCT DESIGNS MATTER ทำไม Inclusive design จึงมีความสำคัญสำหรับกลุ่มผู้ค้าปลีกและนักการตลาด คำถามนี้เป็นหนึ่งประเด็นที่ได้มีการพูดคุยกันในงาน RESHAPE Global Summit 2021 ที่จัดขึ้นในวันนี้ (16 ก.ย.) โดยมี จูเลียต กีเมเนซ (Julliete Gimenez ) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Goxip แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแฟชั่นและความงามสัญชาติฮ่องกง และ เมย์ หลิง (May Ling) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด KFC Malaysia มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อมูล เพื่อนำไปสู่คำตอบของคำถามในเรื่อง Inclusive design โดยมี ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้บริหาร 500 TukTuks หรือคุณมะเหมี่ยว ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในการพูดคุยครั้งนี้
![](https://www.infoquest.co.th/wp-content/uploads/2021/09/Reshape.jpeg)
สำหรับ Inclusive design ในมุมมองของเมย์ หลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด KFC Malaysia นั้น เมย์กล่าวถึงมุมมองที่มีต่อ Inclusive design ว่า เป็นเรื่องราวของการให้ความสำคัญกับลูกค้ามากยิ่งขึ้นในแง่ที่ว่า “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” โดยที่เราอาจจะใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า หรือดำเนินการใด ๆ ก็ตามโดยอิงกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก
ในขณะที่จูเลียต มองว่า Inclusive design เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาโดยมีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคมาใช้งาน เป็นต้น
ดังนั้น Inclusive design จึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำแคมเปญหรือการทำตลาดในกลุ่มค้าปลีกในปัจจุบัน เนื่องจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้บริโภคหันมาซื้อของออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ส่องพฤติกรรมผู้บริโภค Gen Z
ปารดา ได้โยนคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคว่า จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และควรจะต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
จูเลียต กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยผู้บริโภคที่เลือกซื้อสินค้าทางออนไลน์ในกลุ่ม Millennials นั้น ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเลือกสินค้า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการทางเลือกและตัวเลือกที่หลากหลาย และมีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าจากคอนเทนต์ที่สร้างความประทับใจ
ดังนั้น แบรนด์จึงต้องสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคกลุ่มนี้ตั้งแต่วันแรก ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Millennials จะสนใจกับรองเท้าผ้าใบเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงตัวตนและสิ่งที่ตนเองต้องการจะบอกว่า ตัวเองนั้นเป็นใคร เป็นคนแบบใด ดังนั้น ทางเราจึงต้องช่วยแบรนด์ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยการทำคอนเทนต์สั้น ๆ ที่น่าสนใจ และนำเสนอผ่าน Instagram หรือ IG Stories ซึ่งเป็นสื่อที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ชื่นชอบ
ในขณะที่ลูกค้าในกลุ่ม Gen Z จะเลือกซื้อสินค้าที่นำเสนอออกมาได้อย่างกระชับโดนใจ ดังนั้น แบรนด์ ควรจับประเด็นและดึงข้อมูลลักษณะทางประชากรมาใช้ในการทำแคมเปญหรือการตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภค โดยอาจจะสื่อสารผ่านการทำตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized Experience) เหมือนกับ Instagram หรือ Netflix เพื่อนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมตรงความต้องการของลูกค้า
ส่วน เมย์ กล่าวถึงแนวโน้มการสร้างแบรนด์และการตลาดว่า ในแง่การทำธุรกิจนั้น มักจะมีการให้ความสำคัญกับการแสวงหาผลกำไรก่อน แต่ถ้าหากแบรนด์ต้องการไปได้ไกลกว่านั้น แบรนด์จำเป็นที่จะต้องสร้างทรัพยากรอันทรงคุณค่าให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง หรือสร้างบุคลากรที่ทรงคุณค่าให้แก่องค์กรผ่านการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ไปสู่พนักงานในองค์กร ให้พนักงานได้รับรู้ถึงเป้าหมายขององค์กร เป็นต้น สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะขาดไม่ได้และจำเป็นที่จะต้องนำเสนอออกมาให้ชัดเจน
สำหรับตัวอย่างของแบรนด์ที่สามารถทำ Inclusive product design ออกมาได้อย่างประทับใจในมุมมองของ 2 ผู้บริหารหญิง เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพและเข้าใจเพิ่มขึ้นนั้น
เมย์ ได้หยิบยกตัวอย่างธุรกิจในภูมิภาคเดียวกันอย่าง Grab สิงคโปร์ที่ให้ประสบการณ์ด้าน Inclusive Product Design โดยกล่าวว่า Grab เป็นแพลตฟอร์มที่มีการใช้งานจากคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ ซึ่งตัวเธอเองก็ใช้ Grab เป็นประจำเช่นกัน นอกจากนี้ Grab ยังให้โอกาสที่เปิดกว้างและสร้างงานให้กับผู้คนอย่างหลากหลายและครอบคลุม ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างเห็นได้ชัดเจนผ่านพันธมิตรของ Grab อย่างไรเดอร์นั่นเอง
ในขณะที่จูเลียตได้ยกตัวอย่างของแบรนด์หรูซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของ Goxip โดยแบรนด์ดังกล่าวนี้ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเยี่ยมยอด ด้วยการผสมผสานการนำเสนอสินค้าอย่างหลากหลาย และยังเลือกนายแบบนางแบบที่มีภูมิหลังหรือคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันไปมาเป็นตัวแทนของสินค้า โดยไม่ยึดติดกับลักษณะทางประชากร ทำให้การนำเสนอนั้นมีความเป็นสากล เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงตลาดและนำพาแบรนด์ไปสู่ความยิ่งใหญ่
นอกจากนี้ ผู้บริหารยังมีการตัดสินใจที่ฉับไว ปรับตัวนำเข้าสู้ศึกออนไลน์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยดึงดูดผู้บริโภคด้วยข้อเสนอสุดพิเศษมากมาย
นอกจากนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าว ยังได้มีการพูดคุยกันในประเด็นที่ว่า ในยุคนี้ ดูเหมือนว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะมุ่งไปที่การค้าออนไลน์เป็นทางสายหลัก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แบรนด์ควรจะบริหารร้านค้าและสินค้าแบบออฟไลน์อย่างไร
จูเลียตให้ความเห็นว่า ร้านค้าออฟไลน์นั้น จะต้องปรับตัวโดยจ้างพนักงานที่มีความหลากหลายทั้งในแง่วัฒนธรรมหรือลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกันไป เพราะในพื้นที่ออนไลน์ การเลือกใช้นายแบบนางแบบที่แตกต่างกันมาเป็นตัวแทนของสินค้านั้น สามารถทำได้ง่าย แต่ในทางกลับกัน ร้านค้าออฟไลน์กลับมีข้อจำกัดที่มากกว่า
อาทิ ข้อจำกัดทางด้านภาษา ซึ่งหากแบรนด์สามารถเพิ่มความประทับใจให้กับผู้บริโภคทางออฟไลน์ได้ เช่น การสรรหาพนักงานที่สามารถพูดได้หลายภาษามาประจำร้าน อย่างถ้ามีลูกค้าชาวเกาหลีเข้ามาในร้านค้า และมีพนักงานที่สามารถสื่อสารในภาษาเกาหลีกับผู้บริโภคได้ ก็จะช่วยสร้างความประทับใจที่ไม่รู้ลืมให้กับลูกค้า นี่ถือเป็นเทคนิคที่ดีมากที่แบรนด์สามารถนำไปปรับใช้ได้
ทั้งนี้ ปารดายังได้ถามถึงเทคนิคการทำการตลาดในยุคปัจจุบันจากผู้บริหารหญิงทั้ง 2 ราย
เมย์ กล่าวว่า หมดยุคแล้วที่แบรนด์จะทำการตลาดแบบเหวี่ยงแหอีกต่อไปแล้ว แบรนด์จำเป็นที่จะต้องเข้าใจและรู้จักเลือกใช้แพลตฟอร์มการสื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างคอนเทนต์ที่สามารถสื่อสารและเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อที่จะเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคที่มีความแตกต่างกัน ซึ่ง KFC Malaysia ก็เล็งเห็นความสำคัญถึงประเด็นนี้ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานฝึกงานได้คิดสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่เหมาะสมกับวัยของพนักงาน เพราะไม่มีใครจะเข้าใจกันได้เท่ากับคนที่มีประสบการณ์หรือวัยใกล้เคียงกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 64)
Tags: Goxip, จูเลียต กีเมเนซ, ช้อปปิ้งออนไลน์, ธุรกิจค้าปลีก, ปารดา ทรัพย์ประเสริฐ, พฤติกรรมผู้บริโภค, เมย์ หลิง