รายงานข่าวจากรัฐสภา เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในวาระแรก ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 368 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 โดยรับหลักการทั้ง 4 ฉบับที่มีการเสนอ คือ
- ร่างของคณะรัฐมนตรี
- ร่างของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ
- ร่างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และ
- ร่างของนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
โดยที่ประชุมสภาตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ นพ.ทศพร เสรีรักษ์, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด, นายเอกชัย ไชยนุวัติ พรรคประชาธิปัตย์เสนอชื่อ นายสมชาย หอมละออ และพรรคเสรีรวมไทยเสนอชื่อ นางอังคณา นีละไพจิตร กำหนดเวลาแปรญัตติ 7 วัน โดยยึดร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลักในการพิจารณา
สำหรับหลักการและเหตุผลของกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้ง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศ กำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหาย
โดยใจความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในมาตรา 5 ระบุไว้ชัดว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีการรับสารภาพ หรือให้ได้ข้อมูล หรือเพื่อข่มขู่ รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน มีโทษสูงสุดจำคุก 25 ปี ปรับ 5 แสนบาท หากถึงขั้นเสียชีวิตอย่างกรณีของมาวินจะมีโทษสูงสุดจำคุก 30ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1 ล้านบาท
เช่นเดียวกับกรณีบังคับสูญหายในมาตรา 6 ระบุว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ มีการจับ,ขัง, ลักพาตัว โดยปกปิดชะตากรรม ปกปิดสถานที่ ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษหนักเท่ากัน คือ จำคุก 25 ปี ปรับ 5 แสนบาท หากถึงขั้นเสียชีวิตมีโทษสูงสุดจำคุก 30ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1 ล้านบาท
ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังเอาผิดครอบคลุมไปถึงผู้สมคบคิดอยู่ในเหตุการณ์ ผู้สนับสนุน ต้องรับโทษเท่ากับคนก่อเหตุด้วย และหากผู้บังคับบัญชารู้เห็นและไม่ระงับการกระทำต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของผู้ทำผิด นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมี รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และที่สำคัญ คือการกำหนดให้คดีทรมานบังคับสูญหายนี้เป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ หมายความว่า ให้เป็นหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ทำคดี
อย่างไรก็ตาม การมีกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ประเทศไทยมีกระบวนการยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมานไว้ตั้งแต่ปี 2555
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 64)
Tags: การเมือง, ตำรวจ, บุคคลสูญหาย, ประชุมสภาผู้แทนราษฎร, รัฐสภา, สิทธิมนุษยชน