สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดสามารถออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) จากผู้ลงทุนเป็นวงกว้าง (SME-PO) และการจัดตั้งตลาดรองเพื่อซื้อขายหุ้นของ SME หรือ “SME Board” ได้ภายในปี 2564 เพื่อเพิ่มช่องทางในการระดมทุนให้ SME และ Startup สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตามความเหมาะสมและความต้องการ ต่อเนื่องจากการเปิดทางการระดมทุนจากผู้ลงทุนเป็นวงแคบ (SME-PP) และปรับปรุงหลักเกณ์การระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง (crowdfunding) ที่มีการระดมทุนแล้วรวมเกือบ 800 ล้านบาทใน 2 ปี
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้มีมติเห็นชอบการออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการระดมทุนในรูปแบบ SME-PO และการจัดตั้ง SME Board เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 จากนั้น ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน โดยปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ซึ่งผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางที่ ก.ล.ต. เสนอ และคาดว่าจะสามารถออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ภายในปี 2564 หรือไม่เกินต้นปี 2565
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. จะสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับระดมทุนรูปแบบใหม่และการเข้าจดทะเบียนใน SME Board ที่ใช้ชื่อว่า “LiVE Exchange” ซึ่งจัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่กลางปี 2564 เพื่อให้มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมและได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) เป็นต้น เนื่องจากเล็งเห็นว่า การเปิดช่องทางให้ SME และ Startup สามารถระดมทุนเป็นวงกว้างได้นั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้ SME และ Startup สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขีดความสามารถและมีความเข็มแข็ง และทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ลงทุนยังได้รับความคุ้มครองที่เหมาะสม”
เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ก.ล.ต.ได้กำหนดให้นโยบายส่งเสริมและสนับสนุน SME และ Startup ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน โดยในปี 2563 ก.ล.ต. ได้เปิดช่องทางให้ SME และ Startup สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนในรูปแบบ SME-PP และปรับปรุงหลักเกณ์การระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิง ซึ่งถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ SME และ Startup สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มี SME และ Startup ระดมทุนผ่าน 2 รูปแบบนี้แล้ว 83 บริษัท มูลค่ารวม 795 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น SME และ Startup ที่ต้องการระดมทุนในรูปแบบ SME-PO ต้องมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีกลไกคุ้มครองผู้ถือหุ้นตามกฎหมาย (ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535) โดยจะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองให้เหมาะสม และไม่เป็นภาระกับ SME และ Startup มากเกินไป เช่น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาต ไม่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน และไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมโดยกิจการยังต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
สำหรับการลงทุนในหุ้น SME และ Startup ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง จะเปิดให้เฉพาะผู้ลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์การลงทุนมีประสบการณ์และมีสินทรัพย์สูงในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน กิจการเงินร่วมลงทุน (private equity) นิติบุคคลร่วมลงทุน (venture capital) ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor) กรรมการและพนักงานของเอสเอ็มอี หรือบริษัทในเครือ เป็นต้น เพื่อคงหลักการคุ้มครองผู้ลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 64)
Tags: SME-PO, Startup, ก.ล.ต., ธุรกิจขนาดย่อม, รื่นวดี สุวรรณมงคล, วิสาหกิจเริ่มต้น