นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธาน ตั้งเป้าขยายการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 66-69) ไม่น้อยกว่า 2.2 ล้านล้านบาท หลังจากดำเนินงานมาได้ 3 ปี 8 เดือน สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว
“ตอนนี้ยังคงอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ตามเดิม แต่ในอนาคตคงมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การลงทุนแต่ละปีน่าจะราว 5 แสนล้านบาท 5 ปีก็น่าจะได้ 2.5 ล้านล้านบาท” นายคณิศ กล่าว
โดยช่วง 3 ปีแรกของการดำเนินงานเกิดการลงทุนรวมที่ได้รับอนุมัติแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 94% จากเป้าหมายแผน 5 ปี (ปี 61-65) ของอีอีซีจำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอกชนร่วมลงทุน (PPP) จำนวน 4 โครงการหลัก (รถไฟความเร็วสูง/สนามบินฯ/ท่าเรืออุตสาหกรรม 2 แห่ง) มูลค่ารวม 633,401 ล้านบาท แบ่งเป็น ทุนจากภาคเอกชน 387,018 ล้านบาท (61%) จากภาครัฐ 196,940 ล้านบาท (39%)
2.การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายจากการออกบัตรส่งเสริมบีโอไอ มูลค่า 878,881 ล้านบาท (โครงการที่ขอยื่นส่งเสริมลงทุนช่วงปี 2560 – มิ.ย.64 ลงทุนจริงแล้วกว่า 85%)
3.การลงทุนผ่านงบบูรณาการอีอีซีมูลค่า 82,000 ล้านบาท
ขณะที่การลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีการขอรับส่งเสริมลงทุน 232 โครงการ เงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากช่วงเดียวกันปี 63 การอนุมัติส่งเสริมลงทุน 195 โครงการ เงินลงทุน 74,250 ล้านบาท และออกบัตรส่งเสริม 187 โครงการ เงินลงทุน 88,083 ล้านบาท โดยจำนวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็น 64% ของคำขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลำดับ
ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแผนการดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์ โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมฯ เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ (Sandbox) , การปฏิรูปและยกระดับประเทศไทยก้าวสู่ 10 อันดับของประเทศที่ประกอบธุรกิจง่ายที่สุด โดยมอบหมายให้ สกพอ.ไปยกร่างประกาศสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ที่ครอบคลุม สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรและที่มิใช่ภาษีอากร เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยมุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ใช้นวัตกรรมขั้นสูงและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ภายใต้การออกแบบสิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ (Demand Driven Customization) เป็นต้นแบบการปฏิรูประบบราชการที่ใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการลงทุน และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
“การให้สิทธิประโยชน์จะใช้กฎหมายอีอีซี เพราะเป็นพื้นที่เฉพาะ แต่ไม่ซ้ำซ้อนกับบีโอไอ และสิทธิประโยชน์ก็จะไม่เกินขอบเขตของบีโอไอ แต่วิธีการทำงานต่างกัน เพราะอีอีซีต้องไปดึงบริษัทที่มีความสามารถในแต่ละด้านเข้ามาลงทุน เช่น สนามบิน คาร์โก้ โลจิสติกส์ เมดิคอลฮับ โดยจะเลือกบริษัทที่ดีที่สุดในโลกของแต่ละอุตสาหกรรมมาลงทุน” นายคณิศ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาแผนดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) กำหนดแผนปฏิบัติการ ปี 64-65 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้ ได้แก่ 1) จัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) 2) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการฯ (Conceptual Design) 3) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และ 4) จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์ และตั้งเป้าหมายไตรมาส 4 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของโครงการฯ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน และออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในพื้นที่โครงการฯ ช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565
สำหรับการพัฒนาโครงการ EECd แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์บริการต่างๆ ระยะที่ 3 พัฒนาพื้นที่กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และ ระยะที่ 4 พัฒนาพื้นที่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ผสมผสานระบบนิเวศน์ เพื่อการอยู่อาศัยในโลกยุคใหม่ โดยตั้งเป้าให้ EECd เป็นเมืองดิจิทัลระดับโลกในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลแห่งอนาคต และเป็นเมืองอัจฉริยะโดยใช้หลักคิดการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้
ส่วนการขับเคลื่อนแผนเกษตรอีอีซีคู่ EFC พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน ที่ประชุมฯ ได้รับทราบร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (ปี 66-70) ที่ สกพอ.จัดทำร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรอบแนวคิดเน้นตลาดนำการผลิต (Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง โดยเริ่มพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร กัญชง กัญชา และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ อีอีซี เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซี เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาโครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ดำเนินการ 4 เรื่องหลัก 1) สร้างสินค้าให้มีคุณภาพตามความต้องการตลาด มุ่งเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าทุเรียนพรีเมียม 2) วางระบบการค้าสมัยใหม่ผ่านระบบ e-commerce และ e-auction สร้างมูลค่าให้ทุเรียนของภาคตะวันออก 3) จัดทำห้องเย็นเทคโนโลยีทันสมัยเก็บรักษาความสดใหม่ โดย สกพอ. เร่งดำเนินการให้ทันช่วงฤดูทุเรียนปี 2565 4) จัดระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ที่เข้าร่วม ให้พัฒนาคุณภาพผลผลิตในระดับพรีเมียม ทั้งนี้เพื่อพัฒนาเชิงคุณภาพ ทำให้เกษตรกร ชุมชน คนรุ่นใหม่มีคุณภาพชีวิตและรายได้ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน
“คาดว่าจะรายงานผลการดำเนินงานและเสนอแผนงานต่างๆ ให้ที่ประชุมชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในเดือนหน้า” นายคณิศ กล่าว
สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ในปี 63 อีอีซีมีอัตราการเติบโตติดลบ 8% ขณะที่จีดีพีติดลบ 6.1% แต่ในปีนี้จีดีพีจะโต 1-1.5% อีอีซีจะกลับมาขยายตัว 3.5% เนื่องจากการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น และหากมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นตามแผนงานที่กำหนดไว้จะช่วยให้โครงการเติบโตได้เร็วขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 64)
Tags: EEC, คณิศ แสงสุพรรณ, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, เงินลงทุน