นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “The Future of Financial System : อนาคตโลกการเงิน” โดยระบุว่า สถานการณ์ด้านการเงินของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะเห็นได้ว่ามีการพัฒนาที่สะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
ทั้งนี้ หากย้อนไปช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การให้บริการทางการเงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น โมบายแบงกิ้ง มีการใช้เพียงปีละ 5 แสนบัญชี แต่ข้อมูลล่าสุดในช่วงมิ.ย. 64 พบว่ามีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านบัญชี ส่วนการใช้บริการอีเพย์เมนท์ในปัจจุบันมีเพิ่มมากถึง 15 เท่าจาก 10 ปีก่อน และการโอนเงินผ่านเน็ตในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นถึง 100 เท่าจาก 10 ปีก่อน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นได้ว่าในภาคการเงินย่อมจะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการมากขึ้น โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เล่นที่อยู่ในภาคการเงินเองเสมอไป แต่อาจมาจาก sector อื่นๆ รวมถึงธุรกิจที่เข้ามาเชื่อมต่อโดยตรง ทำให้การให้บริการทางการเงินไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ดังนั้นการเงินในอนาคตจะมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่จะมีมากขึ้น และการเข้าถึงบริการทางการเงินจะต้องเป็นแบบ Any time, Any where, Any device
พร้อมมองว่า แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่รวดเร็วนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด สามารถแก้ปัญหาข้อบกพร่องในอดีตได้ และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่นวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น
“trend ที่ move เร็วนั้น จะต้อง move ให้สามารถตอบโจทย์คนได้อย่างชัดเจน สามารถ address pain point ได้” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
สำหรับ pain point ของระบบการเงินไทยในปัจจุบันนั้น นายเศรษฐพุฒิ มองว่า ไม่ใช่เรื่องระบบการชำระเงิน และไม่ใช่เรื่องเสถียรภาพของค่าเงิน แต่ pain point สำคัญของระบบการเงินไทยที่เห็นชัดเจนใน 2 เรื่องขณะนี้ คือ 1.การเข้าถึงสินเชื่อของภาคธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งพบว่ายังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินจากธนาคารพาณิชย์ และ 2.การโอนเงินระหว่างประเทศที่ยังมีต้นทุนสูง ดังนั้น pain point ใน 2 ส่วนนี้ จึงควรที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า บทบาทของ ธปท.ที่จะรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของการเงินในอนาคต มี 3 มิติที่สำคัญ ดังนี้
- More open data ทำให้มีการนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การแชร์ data footprint ระหว่างธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้การใช้ข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อทำได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกมากขึ้น
- More open competition ทำให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่จะได้รับบริการทันสมัย มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น จากผู้เล่นที่เข้ามามากขึ้น
- More open infrastructure ทำโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายให้กับผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาการให้บริการทางการเงินของไทย
ผู้ว่าฯ ธปท. ยอมรับว่า ระบบการเงินดิจิทัลนอกจากจะสร้างผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นผู้ให้บริการในภาคการเงินที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างความท้าทายต่อ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลเป็นอย่างมาก ซึ่ง ธปท.จำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งมิติในด้านความเสี่ยง และมิติของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตควบคู่กันไป
ในท้ายสุด ผู้ว่าฯ ธปท.ได้แนะให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังจากการที่จะเข้าไปลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เนื่องจากมีความผันผวนมาก นำมาซึ่งความเสี่ยงสูงเช่นกัน การจะเข้าไปลงทุนในส่วนนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ และควรมีข้อมูลการลงทุนที่รอบด้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ย. 64)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้ว่า ธปท., เงินดิจิทัล, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ