น.ส.อัญชลี สืบจันทรศิริ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย) (LST) และบมจ.อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (UPOIC) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดรายได้จากการขายผลผลิตปาล์มปีนี้จะเติบโต 30% จากปีก่อน เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ปรับตัวขึ้น หลังผลผลิตปาล์มในช่วงปลายปี 63 ที่ออกมาค่อนข้างน้อยต่อเนื่องมายังต้นปีนี้ ทำให้ CPO Stock ลดลง ส่งผลให้ราคา CPO ดีดตัวขึ้นไปสูงถึง 40 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันก็เริ่มปรับตัวลงมาเล็กน้อยที่ระดับ 36-37 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปัจจุบันปริมาณผลปาล์มได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือมาอยู่ที่ 16.4 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 15 ล้านตัน ทำให้คาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณผลปาล์มจะปรับตัวขึ้นมาหรือใกล้เคียงกับปี 62 ที่อยู่ที่ 16.7 ล้านตัน ส่งผลทำให้ราคาผลปาล์ม (FFB) ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในประเทศไทย จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริโภค และการใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่อยู่ในอัตราที่ไม่สูงนัก, การส่งออก และการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตเป็นน้ำมันไบดีเซล B10 หลังจากภาครัฐมีการบริหารจัดการไบโอดีเซลเพื่อจัดการสต็อกในประเทศ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการบริโภคและภาคอุตสาหกรรม ส่วนส่งออก โดยเฉลี่ยไทยมีการส่งออกอยู่ที่ 3 แสนตัน ซึ่งครึ่งปีแรกของปีนี้ส่งออกไปแล้วถึง 2.32 แสนตัน เนื่องจากราคาในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามเมื่อดูราคาเฉลี่ย ราคา CPO บ้านเราจะสูงกว่าประเทศมาเลเซีย ทำให้คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะปรับตัวสูงกว่าปี 61 ที่อยู่ที่ 3.7 ล้านตัน โดยให้จับตาดูราคา CPO ของมาเลเซียจะยังแข็งแกร่งต่อเนื่องไปในไตรมาสสุดท้ายนี้หรือไม่ โดย 6 เดือนแรก มาเลเซียมีผลผลิตปาล์มยู่ที่ 8 ล้านตัน ต่ำกว่าปีก่อนราว 8% และสต็อกก็ค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านตัน จากค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็นที่ระดับ 2 ล้านตัน ขณะที่ 5 เดือนแรกอินโดนีเซีย อยู่ที่ 18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ภาพของ CPO Stock เหลือไม่ถึง 3 ล้านตัน ซึ่งยังต้องติดตามดูในครึ่งปีหลังนี้ เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตปาล์มของผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว ว่าผลผลิตจะปรับตัวขึ้นมาเพียงใด
ด้านผู้นำเข้ารายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ ประเทศจีน และอินเดีย สต็อกก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และต่ำกว่าปีก่อน หลังดีมานด์เริ่มสูงขึ้นในช่วงกลางปีที่ผ่านมา
“ปัจจัยที่จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม มีอยู่ 5 ปัจจัย ได้แก่ การคง CPO Stock ไม่ให้มากเกินไปและต่ำเกินไปของรัฐบาล โดยสต็อกปัจจุบันของไทยอยู่ที่ระดับเกิน 3 แสนตัน ทางรัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนค่าบริหารจัดการส่งออก เพื่อคงไม่ให้เกิน 3 แสนตัน, ซัพพลายที่ลดลง, มาเลเซียที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ จากมาตรการในมาเลเซีย, สต๊อกของอินโดนีเซียที่ลดลงอย่างมาก หากผลผลิตไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ก็จะส่งผลให้ราคายังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงไบโอดีเซลที่เลื่อนการใช้ ทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย และนโยบายของยุโรป หรือ RED II การกำหนดการใช้ผสมตัวปาล์มในไบโอดีเซลจะลดลงเป็นศูนย์ในปี 73” น.ส.อัญชลี กล่าว
น.ส.อัญชลี กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการขยายไปสู่ธุรกิจกัญชา กัญชง บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถยื่นขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อประกอบกิจการปลูก เพาะพันธุ์ ผลิต และสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชง กัญชา เพื่อจำหน่าย ในเดือนก.ย.นี้ และคาดว่าจะเริ่มปลูกได้ในต้นปี 65 โดยแผนงานจะให้บมจ.ล่ำสูง (ประเทศไทย)(LST) เป็นผู้จำหน่ายและทำการตลาด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 64)
Tags: LST, UPOIC, ปาล์มน้ำมัน, ล่ำสูง, หุ้นไทย, อัญชลี สืบจันทรศิริ, อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม