บิ๊กป้อม กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) , จังหวัด และกองทัพ ให้เร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม/น้ำหลาก และช่วยเหลือประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบทั่วทุกภาคของประเทศอยู่ในขณะนี้ พร้อมให้การสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร และยานพาหนะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อย่างเต็มที่ รวมทั้งให้เตรียมการเยียวยาช่วยเหลือหลังน้ำลดอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันจะต้องดำเนินการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้าไว้ด้วย

สำหรับเรื่องสำคัญที่ผ่านความเห็นชอบจาก กนช.ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา และโครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง โดยให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผน, การปรับปรุงแผนพัฒนา ฟื้นฟูคลองแสนแสบให้เป็นแผนหลัก เพื่อเร่งสร้างความปลอดภัยในการสัญจร, การปรับปรุงภูมิทัศน์, การแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ ตลอดจนการป้องกันการบุกรุก ทำลายทรัพยากรในคลอง และเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้ง ในลุ่มน้ำติดอ่าวไทยด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าโครงการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดย สทนช.ได้ทำการศึกษาร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าพื้นที่มาบตาพุด Site B (นอกเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด) มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการมากที่สุด และให้จัดทำโรดแมพเสนอ กนช.ต่อไป

รวมทั้งรับทราบผลการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการดำเนินงานรับมือฤดูฝน 10 มาตรการ ซึ่งมีความคืบหน้าในภาพรวมตามแผนงาน โดย พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดโครงการ ควบคู่การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ และแจ้งเตือนเพื่อเตรียมพร้อมให้ทันต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตกตั้งแต่วันที่ 7 ก.ย.64 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 20 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน แพร่ ลำพูน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง จันทบุรี ลพบุรี ระนอง กระบี่ และตรัง รวม 45 อำเภอ 76 ตำบล 174 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 916 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยสถานการณ์คลี่คลายทุกจังหวัดแล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top