นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กโดยระบุว่าช่วงนี้ 27% ของเคสใหม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอเมริกาเป็นเด็กเยาวชน สำหรับประเทศไทยองค์การอาหารและยา (อย.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คงไม่อยากเห็นแบบนี้ในประเทศไทย
ดังนั้นทางเดินมีได้สองทางคือ 1.ไม่ต้องเปิดเรียนไปเรื่อยๆ และฉีดวัคซีนให้ผู้ใหญ่ให้ได้มากกว่านี้ก่อน หรือ 2.ฉีดวัคซีนให้เด็กแล้วเปิดเรียนด้วยมาตรการรักษาระยะห่างใส่หน้ากากเลี่ยงที่แออัด อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้หากทางอย. ยิ่งคิดและตัดสินใจช้า เด็กก็คงกลับไปโรงเรียนไม่ได้ หรือได้แต่เสี่ยง จากก่อนหน้านี้ที่เคยกล่าวไว้ว่าเรื่องของระบาดวิทยาการระบาดของโรคแบบโควิด-19 นี้ ไม่ใช่แค่เรื่องทางการแพทย์อย่างเดียว แต่สังคมวิทยามีความสำคัญพอๆ กันหรือมากกว่า
“เด็กๆ ทั้งวัยเรียนประถม มัธยม และอุดมศึกษา ไม่ได้กลับไปชั้นเรียนมากันกว่าปีแล้ว เด็กๆไม่ได้เจอเพื่อนตัวเป็นๆ ไม่ได้คุยกันเสียงดังๆ ไม่ได้แอบกินขนมหรือแอบเล่นโทรศัพท์ในห้องเรียนให้ครูดุ กันทั้งปี เด็กที่เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้ยังไม่เคยได้ไปใช้ชีวิตใหม่ที่โลดโผนในปีแรกของการเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัย”
นพ.นิธิ กล่าว
ดังนั้นเด็กรุ่นช่วงนี้คงเกิดแผลเป็นในการพัฒนาทางสังคมไปตลอดจนเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้งคุณภาพการเรียนการสอนออนไลน์ที่เด็กและครูในเมือง และคุณภาพอินเตอร์เน็ตที่แตกต่างจะยิ่งทำให้ช่องว่างทางการศึกษาที่มีมากอยู่แล้วยิ่งมากขึ้นไปอีก เพราะแน่นอนว่าลูกคนมีฐานะย่อมมีอุปกรณ์ และการสื่อสารที่แตกต่างกับเด็กที่อยู่ในที่ห่างไกลอย่างมาก ไม่ต้องพูดถึงเด็กชายขอบเลยด้วยซ้ำ
ทั้งนี้เข้าใจว่าผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาพิจารณาการใช้วัคซีนในเด็กของอย. มีความรู้ความชำนาญด้านการแพทย์และวัคซีนที่เก่งที่สุดในประเทศแล้ว แต่ไม่มั่นใจว่าใครในอย. และผู้กำหนดนโยบายจะคำนึงถึงเรื่อง สังคม และคุณภาพการศึกษาด้วยแค่ไหน
“ไม่อยากให้ท่านเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแผลเป็นทางสังคมให้เด็กๆ และทำให้ช่องว่างทางการศึกษาในเยาวชนไทยกว้างขึ้นกว่านี้โดยที่เยาวชนเหล่านี้จะเป็นพลเมืองทรัพยากรของชาติเราในอนาคตอันใกล้ อยากให้คนเก่งประเทศไทย คิดแล้วทำเองได้ก่อนใครๆ บ้างอย่าไปรอให้ชาติใดๆ ตัดสินใจก่อนเลย กล้าตัดสินใจกันหน่อย”
นพ.นิธิ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, ฉีดวัคซีน, นิธิ มหานนท์, วัคซีนต้านโควิด-19, องค์การอาหารและยา, เด็ก, โควิด-19