สภาผู้ส่งออก ประสานสหรัฐฯ เร่งแก้ปัญหาโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าทางทะเล

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ผู้บริหาร สรท.ได้ประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ร่วมกับ Mr. Carl W. Bentzel, Commissioner, US Federal Maritime Commission (FMC) และ Mr.John Young, Counseller เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขนส่งสินค้าทางทะเล

โดยเฉพาะกรณีที่มีการปรับอัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า ปัญหาการขาดแคลนระวางเรือขนส่งสินค้าในเส้นทางการค้าหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ตามที่ FMC และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice: DOJ) ได้รับมอบหมายจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการนำเข้าและผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ประธานฯ และผู้บริหาร สรท.ได้นำเสนอสถานการณ์ทั่วโลกและในประเทศไทย พฤติการณ์ของสายเรือ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผู้ส่งออกไทย ผู้นำเข้าและผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา จากการปรับขึ้นของค่าระวางเรือประมาณ 5-7 เท่าในเส้นทางเดินเรือหลัก ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวิกฤตระดับโลก โดยที่ผ่านมา สรท.ได้พยายามผลักดันเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในประเทศ ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ UNCTAD, Asian Shipper’s Alliance (ASA) และ Global Shippers’ Alliance (GSA)

โดย สรท.ได้ชี้แจงว่า

  1. ต้นทุนทางธุรกิจ เช่น ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการให้บริการของท่าเรือ มีการทรงตัวต่อเนื่องและไม่มีทิศทางการปรับขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวตามอุปสงค์ของตลาดโลกนั้น สายการเดินเรือมีการชดเชยผ่านค่า Bunker Surcharge และค่า ISOCC ขณะที่การล่าช้าของการรอคอยเข้าเทียบท่ามีเพียงเท่าตัว ดังนั้นการปรับเพิ่มขึ้นของค่าระวางจึงสูงกว่ากับภาระต้นทุนจริง จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลด้านราคาค่าระวางให้สมเหตุสมผลมากขึ้น
  2. สรท. และผู้ส่งออกไทย พยายามเจรจากับสายการเดินเรือเพื่อจัดทำ Service Contract เพื่อยืนยันค่าระวาง ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ และระวางสินค้าที่ต้องการใช้บริการ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสายเรือ อีกทั้งยังพบว่าสายการเดินเรือไม่ปฏิบัติตาม Service Contract ที่ลงนามไว้เดิม ทั้งการขอเพิ่มค่าระวางจากที่ตกลงไว้ และไม่จัดสรรตู้คอนเทนเนอร์และระวางเรือให้ตามสัญญาที่ได้ลงนามไว้ก่อนหน้า ซึ่ง สรท. เห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ และจำเป็นต้องมีการใช้กฎหมายเพื่อบังคับให้สายเรือปฏิบัติตามสัญญา รวมถึงกำหนดบทลงโทษและดำเนินการเมื่อมีการไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงไว้
  3. แม้ว่าสายการเดินเรือจะมีการเรียกเก็บค่าระวางเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน คุณภาพการให้บริการของสายเรือกลับลดลงอย่างมาก ทั้งด้านความตรงต่อเวลาในการส่งมอบตู้สินค้า ซึ่งพบว่ามีการล่าช้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งการเข้ารับสินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง และการส่งมอบสินค้า ณ ท่าเรือปลายทาง สภาพของตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกที่ชำรุดและไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ใช้บริการต้องการ การลดความถี่และจำนวนเที่ยวเดินเรือในการเดินเรือทำให้มีตัวเลือกในการใช้บริการน้อยลง รวมถึงการยกเลิกเที่ยวเรือ (Blank Sailing) เพื่อควบคุมปริมาณเที่ยวเรือให้น้อยลงและเพิ่มอำนาจในการต่อรองกับเจ้าของสินค้าให้มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ถึงปลายทางในวันและเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขาย เป็นต้น

ขณะที่ Mr. Carl W. Bentzel ระบุว่า รับทราบถึงข้อกังวลและปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก และ FMC อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของการปรับขึ้นค่าระวางเรือ รวมถึงปัญหาการหมุนเวียนของตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก ว่าเกิดจากเหตุปัจจัยใดบ้าง โดย FMC ตระหนักถึงปัญหาจากการที่สายเรือปฏิเสธการให้บริการตามหลักการค้าที่เป็นธรรม ปัญหาจากความแออัดของท่าเรือซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการขนส่ง อีกทั้งยังมีประเด็นที่ต้องเร่งเก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบข้อเท็จจริง อาทิ

  1. สาเหตุของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และแนวทางการนำตู้คอนเทนเนอร์กลับเข้าสู่ระบบ
  2. การกำหนดบทลงโทษต่อการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีสายเรือปฏิเสธที่จะรับขนส่งสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวข้องต่อภาคการผลิตสินค้าและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสาธารณสุข กระทบกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
  3. กรณีการรวมกลุ่มของสายเรือขนาดใหญ่ที่ครองสัดส่วนทางการตลาดในการให้บริการและสามารถกำหนดราคาได้เต็มที่และไม่เป็นธรรม ซึ่ง FMC จะหารือกับประเทศที่มีศักยภาพทางการขนส่งทางเรือเพื่อขอให้มีการพิจารณาตรวจสอบการกำหนดค่าระวางและค่าบริการ การให้บริการ ปัญหาความแออัดของท่าเทียบเรือที่สำคัญและเป็นเหตุให้สายเรือเกินความล่าช้าและกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ FMC เห็นถึงความสำคัญของข้อเท็จจริงในประเทศไทย และขอให้ สรท.ทำหนังสืออย่างเป็นทางการถึง FMC เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top