สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 0.8% ในเดือนส.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนก.ค.ที่มีการขยายตัว 1% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะปรับตัวขึ้น 1% นอกจากนี้ ดัชนี CPI ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ในปีนี้ที่ระดับ 3%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาในหมวดอาหารและพลังงานเนื่องจากมีความผันผวน อยู่ที่ระดับ 1.2% ในเดือนส.ค. ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 1.3% ในเดือนก.ค.
รายงานของ NBS ยังระบุว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน พุ่งขึ้น 9.5% ในเดือนส.ค. ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในเดือนก.ค.ที่มีการขยายตัว 9% และเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะปรับตัวขึ้น 9% โดยมีสาเหตุมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้รัฐบาลจีนพยายามออกมาตรการสกัดความร้อนแรงของราคาก็ตาม
ทั้งนี้ ดัชนี PPI เดือนส.ค.ขยายตัวที่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2551
รัฐบาลจีนได้เพิ่มมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา รวมถึงการจำกัดการเดินทาง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุปสงค์ในภาคบริการ แม้รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีกในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่ PBOC ได้ปรับลด RRR ในช่วงกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวน 1 ล้านล้านหยวน (6.47 แสนล้านดอลลาร์) ในระยะยาว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ย. 64)
Tags: CPI, จีน, ดัชนีราคาผู้บริโภค, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจจีน