In Focus: “ตาลีบัน” คืนชีพ..ปลุกฝันร้าย 9/11 ภาค 2

9/11 หรือเหตุการณ์ช็อกโลกที่ผู้ก่อการร้ายทำการโจมตีครั้งใหญ่ต่ออเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในสหรัฐ ซึ่งอีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะครบรอบ 20 ปีของการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

แม้ 9/11 ผ่านมาแล้วถึง 2 ทศวรรษ แต่โลกก็ยังคงไม่ได้พบกับสันติภาพที่แท้จริง และการที่สหรัฐได้ประกาศถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ก็ยิ่งกระพือความวิตกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง

In Focus สัปดาห์นี้ ขอนำผู้อ่านย้อนอดีตสู่เหตุการณ์ 9/11 และผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกับคำเตือนของหลายฝ่ายที่ว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอยเหตุการณ์ 9/11 ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่พลิกผันในอัฟกานิสถาน

โศกนาฏกรรม 9/11….20 ปี โลกไม่ลืม

เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2001 ผู้ก่อการร้ายได้ทำการจี้เครื่องบินโดยสารจำนวน 4 ลำ และบังคับให้พุ่งชนเป้าหมาย 4 แห่งในสหรัฐ โดย 2 ลำแรกโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก ส่วนลำที่ 3 โจมตีเพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย และลำที่ 4 เชื่อกันว่ามีเป้าหมายถล่มอาคารรัฐสภาสหรัฐ หรือทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่แผนการล้มเหลว เนื่องจากผู้โดยสารพากันขัดขืนและต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ทำให้เครื่องบินตกลงในทุ่งแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย

เหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกคือการโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งสื่อสหรัฐทำการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนอาคารที่มีผู้บันทึกภาพไว้ได้ รวมทั้งเหตุการณ์ขณะที่อาคารถูกไฟลุกท่วม และถล่มลงมาหลังจากนั้น 2 ชั่วโมง โดยเครื่องบินลำแรกได้ชนตึกฝั่งทิศเหนือเมื่อเวลา 08.46 น.ตามเวลาสหรัฐ ส่วนตึกฝั่งทิศใต้ถูกชนเมื่อเวลา 09.03 น. ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 ราย แต่ก็ยังถือเป็นข่าวดีในข่าวร้าย เนื่องจากปกติแล้ว ในแต่ละวันจะมีประชาชนราว 50,000 คนที่ทำงานหรือมาเยี่ยมชมตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

อัฟกานิสถาน: รังบ่มเพาะกลุ่มก่อการร้าย

กลุ่มอัลกออิดะห์ นำโดยโอซามา บิน ลาเดน ได้วางแผนโจมตีสหรัฐจากอัฟกานิสถาน เนื่องจากเขามีความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐให้การสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งเป็นศัตรูของชาติอาหรับ และการที่สหรัฐนำทหารเข้าประจำการในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม รวมทั้งการที่สหรัฐมีมาตรการลงโทษอิรัก

การก่อเหตุวินาศกรรมครั้งแรกต่อตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เกิดขึ้นในปี 1993 โดยมือระเบิดฆ่าตัวตายขับรถบรรทุกระเบิดวิ่งเข้าชนอาคารดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บร่วม 1,000 ราย

ต่อมาบิน ลาเดนวางแผนโจมตีสหรัฐอีกครั้งในปี 2001 โดยใช้ผู้ก่อเหตุจี้เครื่องบิน 19 คน แบ่งเป็น 4 ทีม แต่ละทีมมีสมาชิกที่ขับเครื่องบินเป็น 1 คน โดยพวกเขาเรียนขับเครื่องบินในสหรัฐ

ในบรรดาคนร้าย เป็นชาวซาอุดีอาระเบียจำนวน 15 คน รวมถึงบิน ลาเดนเอง และ 2 คนมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนอีก 2 คนเป็นชาวอียิปต์และเลบานอน

ผลกระทบจากเหตุการณ์ 9/11

  • มีผู้เสียชีวิตรวม 2,977 ราย (ไม่นับผู้ก่อเหตุจี้เครื่องบิน 19 ราย) แบ่งเป็นผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบิน 4 ลำจำนวน 246 ราย ผู้ที่อยู่ในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2,606 ราย และที่อาคารเพนตากอน 125 ราย
  • ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 11-16 กันยายน 2001 และเมื่อตลาดกลับมาเปิดอีกครั้ง ดัชนีดาวโจนส์ได้ทรุดตัวลงถึง 685 จุด หรือ 7.1% ภายในวันเดียว
  • มีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังเหตุการณ์ 9/11 สูงถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่คาดว่าผู้ก่อการร้ายมีค่าใช้จ่ายในการวางแผนและปฏิบัติการโจมตีราว 500,000 ดอลลาร์
  • ความเสียหายต่อเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารข้างเคียง รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและรถไฟใต้ดินคิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์
  • มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายฉุกเฉินที่สภาคองเกรสให้การอนุมัติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2001 คิดเป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์
  • มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินที่สภาคองเกรสให้การอนุมัติคิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์
  • ค่าชดเชยที่ผู้ทำประกันเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยคิดเป็นมูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์

ฝันร้าย 9/11 ยังคงตามหลอนชาวอเมริกัน

ผลสำรวจของแกลลัพระบุว่า ชาวอเมริกันยอมรับว่า 9/11 ยังคงมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา แม้เหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี

ผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันจำนวน 26% ปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่องบิน, 27% ไม่กล้าไปยังอาคารสูง, 36% มีความหวาดกลัวที่จะต้องเดินทางไปยังต่างประเทศ, 37% รู้สึกวิตกที่จะเข้าร่วมงานที่มีผู้คนจำนวนมาก, 36% กังวลว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นลดลงต่อความสามารถของรัฐบาลสหรัฐในการปกป้องประชาชน

“บุช”สั่งกองทัพลุยอัฟกานิสถาน หวังเด็ดหัว”บิน ลาเดน”

ไม่ถึงเดือนหลังเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สั่งกองทัพสหรัฐบุกอัฟกานิสถาน โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) พร้อมกับเป้าหมายในการกำจัดกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเชื่อกันว่าให้ที่พักพิงและฝึกฝนแก่กลุ่มอัลกออิดะห์ รวมทั้งตามล่าบิน ลาเดน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11

ชาวอเมริกันต่างพร้อมใจให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบุชในขณะนั้น ซึ่งผลสำรวจพบว่า เขาได้รับคะแนนนิยมสูงถึง 90% ซึ่งถือเป็นคะแนนนิยมสูงสุดตลอดกาลสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐ

อย่างไรก็ดี แม้ใช้ความพยายามอย่างหนัก แต่สหรัฐต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการประสบความสำเร็จในการล่าตัวและสังหารบิน ลาเดนที่ปากีสถานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ซึ่งหลังจากนั้น สหรัฐก็ยังคงกำลังทหารอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป เนื่องจากเชื่อว่ามีความจำเป็นในการกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรง และรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

“ไบเดน” สั่งถอนทหารจากอัฟกานิสถาน จุดปะทุกลุ่มหัวรุนแรงคืนชีพ

หลังจากที่สหรัฐได้คงกำลังทหารในอัฟกานิสถานนานเกือบ 20 ปี ซึ่งถือเป็นการทำสงครามในต่างแดนของสหรัฐที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็ได้ประกาศถอนกองทัพสหรัฐทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ปธน.ไบเดนระบุสาเหตุการถอนกำลังทหารว่า เนื่องจากสหรัฐได้บรรลุภารกิจในการสังหารบิน ลาเดนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงกำลังทหารในอัฟกานิสถานอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาลในแต่ละปี นอกจากนี้ สหรัฐไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในอัฟกานิสถาน เนื่องจากแม้แต่กองกำลังอัฟกันเองก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะปกป้องประเทศของตนเองจากการรุกคืบของกลุ่มตาลีบัน

หลายฝ่ายเตือนซ้ำรอย 9/11 หลังตาลีบันทวงคืนอำนาจ

การตัดสินใจถอนกำลังทหารสหรัฐ ทำให้กลุ่มตาลีบันกลับมามีบทบาททางการเมืองในอัฟกานิสถานอีกครั้ง ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงจะกลับมามีอำนาจ และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลก

นายคาลิด นูร์ อดีตเจ้าหน้าที่เจรจาสันติภาพของรัฐบาลอัฟกานิสถาน กล่าวว่า เหตุการณ์ 9/11 อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง หากโลกเพิกเฉยต่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน

นายนูร์กล่าวว่า ประชาคมโลกเคยทำสิ่งที่ผิดพลาดในการไม่ยอมยื่นมือช่วยเหลืออัฟกานิสถาน หลังจากที่กองทัพโซเวียตถอนกำลังทหารในปี 1989 ซึ่งหากโลกยังคงเมินเฉยต่ออัฟกานิสถานอีกครั้ง กลุ่มก่อการร้ายก็จะปรากฏตัวขึ้น และวางแผนการโจมตีทั่วโลก

“หากประชาคมโลกทำผิดพลาดซ้ำซากเหมือนในอดีต สงครามและการก่อการร้ายก็จะไปถึงตัวพวกเขาอีกครั้ง และจะเป็นอีกครั้งที่พวกเขาจะได้เห็นเหตุการณ์เหมือน 9/11”

นายนูร์กล่าว

ทั้งนี้ นายนูร์เคยเป็นสมาชิกคณะผู้แทนของรัฐบาลอัฟกานิสถานในการเจรจากับกลุ่มตาลีบันในเดือนกรกฎาคม 2019

นายโมอีด ยูซูฟ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติปากีสถาน กล่าวเช่นกันว่า ประชาคมโลกไม่ควรโดดเดี่ยวอัฟกานิสถาน มิฉะนั้นจะเกิดภาวะสุญญากาศด้านความมั่นคงภายในประเทศ รวมทั้งจะเกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม

“หากโลกเมินเฉยต่ออัฟกานิสถาน โดยไม่ยอมสนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็กำลังทำความผิดพลาดซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990”

นายยูซูฟกล่าว

“ปากีสถานไม่ได้ต้องการบอกโลกว่าควรหรือไม่ควรสนับสนุนกลุ่มตาลีบัน แต่ปากีสถานหวังว่านานาประเทศควรมีความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อให้เป็นรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายสุดโต่ง และเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งป้องกันการส่งออกลัทธิก่อการร้ายจากแผ่นดินอัฟกานิสถาน”

นายยูซฟกล่าว

ก่อนหน้านี้ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้ให้การยอมรับตาลีบันว่าเป็นรัฐบาลโดยชอบด้วยกฎหมายเมื่อกลุ่มดังกล่าวขึ้นครองอำนาจในอัฟกานิสถานระหว่างปี 1996-2001 โดยปากีสถานเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้การรับรองการปกครองของกลุ่มตาลีบันในขณะนั้น

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัล-ธานี รัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ กล่าวว่า การโดดเดี่ยวกลุ่มตาลีบันจะยิ่งนำไปสู่ความไม่แน่นอน และทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองในอัฟกานิสถาน

ทั้งนี้ กาตาร์ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อความพยายามขับเคลื่อนสันติภาพในอัฟกานิสถาน โดยทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างสหรัฐกับกลุ่มตาลีบัน และยังเป็นเส้นทางผ่านของผู้อพยพจากอัฟกานิสถานในการเดินทางเข้าสู่สหรัฐ

นายจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเตือนว่า การกลับคืนสู่อำนาจของกลุ่มตาลีบันจะทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มก่อการร้ายอีกครั้ง

นายโบลตันแสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายของปธน.ไบเดนในการถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน โดยระบุว่า สหรัฐควรที่จะตรึงกำลังทหารต่อไป ตราบใดที่ยังคงมีภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย

“รัฐบาลตาลีบันให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลอื่นที่จะพยายามไล่ล่าและกำจัดกลุ่มดังกล่าว”

นายโบลตันกล่าว

รายงานฉบับหนึ่งของสหประชาชาติระบุว่า กลุ่มตาลีบันและกลุ่มอัลกออิดะห์ยังคงเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่น และไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าทั้งสองกลุ่มจะตัดขาดความสัมพันธ์กัน แม้กลุ่มตาลีบันเคยให้คำมั่นว่าจะไม่ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอีกต่อไป

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า การล่มสลายของรัฐบาลอัฟกันที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ จะทำให้เกิดภัยคุกคามต่อประเทศในเอเชียกลาง และต่อรัสเซียเอง

ปธน.ปูตินกล่าวว่า กลุ่มนักรบมุสลิมหัวรุนแรงอาจแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้อพยพออกจากอัฟกานิสถาน ซึ่งจะเป็นภัยต่อประชาคมโลก

“เราไม่ต้องการนักรบที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้อพยพมาปรากฎตัวในรัสเซีย” ปธน.ปูตินกล่าว

รัสเซียเคยเผชิญกับการโจมตีของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวเชชเนียในช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

นอกจากนี้ ปธน.ปูตินยังได้คัดค้านแผนการของสหรัฐในการส่งตัวล่ามชาวอัฟกันที่เคยทำงานกับกองทัพสหรัฐให้อพยพไปอยู่ในภูมิภาคเอเชียกลาง เช่น อุซเบกิสถาน ซึ่งปธน.ปูตินอ้างว่าจะทำให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อรัสเซีย

นายไมเคิล แมคคอล สมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถานในขณะนี้ถือว่าเลวร้ายกว่าในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 เนื่องจากกลุ่มตาลีบันสามารถครอบครองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่กองทัพสหรัฐทิ้งไว้ก่อนถอนกำลังออกจากประเทศ

ถึงแม้กองทัพสหรัฐออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำให้อาวุธส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้การได้ แต่ก็มีรายงานว่ากลุ่มตาลีบันสามารถยึดเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอร์กที่ยังคงใช้การได้ รวมทั้งกระสุนปืน AK47 ขนาด 7.62 จำนวนมากกว่า 2 ล้านนัด จรวดขนาด 70mm จำนวน 100,000 ลูก กระสุนขนาด 40mm แบบหัวระเบิดแรงสูงเกือบ 61,000 ลูก และเครื่องบินโจมตีขนาดเบารุ่น A-29

นอกจากนี้ นายแมคคอลกล่าวว่า ความสามารถของสหรัฐในการขจัดภัยคุกคามจากอัฟกานิสถานได้ลดลงอย่างมาก หลังจากที่ไม่มีกำลังทหารสหรัฐประจำการอีกต่อไป

เจ้าชายเตอร์กี อัล-ไฟซาล อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของซาอุดีอาระเบีย แสดงความวิตกว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองกำลังสหรัฐจะตกไปอยู่ในมือของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เช่น ตาลีบัน อัลกออิดะห์ และกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) หลังสหรัฐถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน

ขณะเดียวกัน เจ้าชายอัล-ไฟซาล มีความกังวลว่า อาจมีกลุ่มหัวรุนแรงแฝงตัวอยู่ในบรรดาผู้อพยพออกจากอัฟกานิสถานในช่วงที่กองกำลังสหรัฐกำลังทำการถอนตัว ซึ่งกลุ่มหัวรุนแรงดังกล่าวอาจก่อเหตุโจมตีสหรัฐในอนาคต

อังกฤษมีความวิตกเช่นกันว่าบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐทิ้งไว้ในอัฟกานิสถาน จะกลับมาเป็นภัยร้ายแรงต่อสหราชอาณาจักร

พันเอกริชาร์ด เคมป์ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังอังกฤษในอัฟกานิสถาน กล่าวว่า “อังกฤษจะเผชิญการโจมตีที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มก่อการร้าย เนื่องจากพื้นที่รกร้างในอัฟกานิสถานจะถูกกลุ่มอัลกออิดะห์เข้าใช้ประโยชน์ จากการที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มตาลีบัน และอาวุธที่ตาลีบันยึดได้ ก็จะถูกนำมาใช้กับพวกเราแทน สิ่งนี้ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ที่อาวุธอันตรายได้ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก”

ด้านนายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ กล่าวว่า เขามีความกังวลว่าอัฟกานิสถานกำลังจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว ซึ่งจะเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มก่อการร้าย และจะทำให้กลุ่มอัลกออิดะห์กลับมาในที่สุด

โลกรอแสงสว่างปลายอุโมงค์ในอัฟกานิสถาน

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความวิตกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน กลุ่มตาลีบันก็ได้แสดงท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยหวังกู้ภาพลักษณ์จากการเป็นมุสลิมหัวรุนแรงที่เคร่งศาสนา มาเป็นการยอมรับต่อสิทธิสตรีมากขึ้น และให้สัญญาในการจัดตั้งรัฐบาลที่เปิดกว้างให้กลุ่มต่างๆมีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงอดีตประธานาธิบดีฮามิด คาไซ ขณะที่ส่งสัญญาณพร้อมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ แทนที่จะปิดกั้นตัวเหมือนในอดีต

ทางด้านสหประชาชาติจะจัดการประชุมระหว่างประเทศในวันที่ 13 กันยายนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่อัฟกานิสถานในความพยายามหลีกเลี่ยงการเกิดวิกฤตมนุษยธรรม หลังจากที่ชาวอัฟกันจำนวนมากพากันอพยพออกจากประเทศ เนื่องจากกังวลต่อการกลับมาครองอำนาจของกลุ่มตาลีบัน

มีการคาดหวังกันว่าท่าทีที่เปิดกว้างมากขึ้นของตาลีบัน และความช่วยเหลือจากนานาชาติ จะทำให้อัฟกานิสถานไม่ถูกโดดเดี่ยวจนกลายเป็นฐานของกลุ่มก่อการร้ายเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ คาดว่าอัฟกานิสถานจะมีอนาคตที่สดใส โดยความร่วมมือจากต่างประเทศ เช่น จีน ในการเข้าร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ จากการที่อัฟกานิสถานอุดมไปด้วยทรัพยากรที่เป็นแร่หายาก ขณะที่จีนก็ต้องการเดินหน้าโครงการ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” หรือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ซึ่งต้องพาดผ่านอัฟกานิสถาน และจีนก็หวังว่ากลุ่มตาลีบันจะยุติการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงของจีน

อนาคตของอัฟกานิสถานภายใต้การกุมบังเหียนของกลุ่มตาลีบันจะรุ่งโรจน์หรือรุ่งริ่ง โดยชาวอัฟกันจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรืออัฟกานิสถานจะยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก และเป็นแหล่งกบดานของกลุ่มก่อการร้ายต่อไป เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top