รายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ คาดว่าจะมีการรายงานสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 และประเมินสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์บางส่วนมาแล้วกว่า 1 สัปดาห์
นอกจากนั้น คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอให้ทบทวนการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะมาตรา 5 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้สิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ รวมถึงมาตรา 9 ซึ่งใช้ในการออกข้อกำหนดต่างๆ โดยจะกลับไปใช้กฎหมายปกติ คือ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน ซึ่งจะส่งผลให้ ศบค. สิ้นสภาพไปโดยปริยาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามหน้าที่ปกติ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า เป็นไปได้ที่จะไม่ต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดขณะนี้เริ่มทรงตัว ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเอกชนดีพอสมควร และประชาชนก็มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ แม้จะมีบางส่วนไม่ปฏิบัติตามมาตรการก็ตาม แต่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์นี้ต่อไปหรือดีขึ้นก็น่าจะพิจารณา พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้ได้ พร้อมย้ำว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ใช่ตัวตัดสินทั้งหมดว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น
พล.อ.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นที่ทราบดีว่าสังคมไม่ค่อยสบายใจ แต่ห้วงเวลาที่ผ่านมาก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเท่านั้น แต่สุดท้ายต้องมีวันสิ้นสุด
อย่างไรก็ตามแนวทางทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.และรัฐบาลที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม
พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า หากไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว ศบค.ก็น่าจะต้องจบภารกิจไปด้วย แต่ไม่ได้หายไปจากวงจร เพียงแต่แปรสภาพไปเป็นระบบอื่นที่กฏหมายใหม่รองรับได้ ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณากฏหมายใหม่อยู่ โดยจะต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ เนื่องจากกฏหมายเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการแก้ปัญหาได้เพียงพอ ซึ่งกฏหมายใหม่ที่จะเกิดขึ้นคาดว่าดีกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความเข้มงวด แต่ไม่ตอบโจทย์ในทุกกรณี แต่กฏหมายใหม่จะตอบโจทย์ได้เกือบทั้งหมด เพราะเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุขที่ทราบถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน หาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สิ้นสุดลง แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ ยังไม่แล้วเสร็จ จะทำอย่างไรนั้น พลเอกณัฐพล กล่าวว่า จะต้องพิจารณากันอีกครั้ง แต่ยืนยันรัฐบาลพยายามเร่งรัดและปรับปรุงให้แล้วเสร็จทันเวลา
ทั้งนี้ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะมีการผ่อนคลายมาตรการเพิ่มขึ้นหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องรอฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน จากนั้นค่อยหารือกับหน่วยงานอื่นๆ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไร เช่น กระทรวงด้านเศรษฐกิจ อาจมีข้อเสนอให้ผ่อนคลายเพิ่มเติม เพราะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
ส่วนล่าสุดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมากถึง 900 คน จะมีการทบทวนการดำเนินการหรือไม่ เลขา สมช.กล่าวว่า ได้ติดตามและประชุมกับทีมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อย่างต่อเนื่องวันเว้นวัน และนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่า ผู้ติดเชื้อ 900 คน เป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งความเห็นจากกระทรวงสาธารณสุขคือ ยังไม่น่าหนักใจ เพราะในต่างประเทศได้เริ่มปรับจากโรคแพร่ระบาดใหญ่ (pandemic) เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว (andemic) ดังนั้นในอนาคตจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด แต่อาจไปดูตัวเลขผู้มีอาการและผู้เสียชีวิตแทน อย่างไรก็ตามผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่า ขีดความสามารถการรักษายังเพียงพอ เพราะได้เตรียมการมาแล้วตั้งแต่ต้น
ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)สัปดาห์นี้ ยังไม่มีการเสนอชื่อเลขาธิการ สมช. คนใหม่ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนเอกสารการโอนย้าย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 64)
Tags: คลายล็อกดาวน์, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, ศบค.