นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า คณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ (Business Resume) ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีข้อเสนอเปิดเมืองปลอดภัยเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มเติมจากการผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของภาครัฐ
โดยจากการศึกษาแนวทางการเปิดประเทศของหลายประเทศ ทั้งสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การพิจารณาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นั้น หลายประเทศไม่ได้เน้นตัวเลขจำนวนคนติดเชื้อเป็นหลัก แต่ได้พิจารณาจากตัวเลขผู้ป่วยสีเหลือง-แดง จำนวนผู้เสียชีวิต หรือจำนวนเตียงที่พร้อมรับ รวมถึงเน้นข้อมูลการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งรัฐบาลควรมีการเปิดเผยสถิติรายพื้นที่ในข้อมูลเหล่านี้เพื่อช่วยกันให้ข้อมูลทำความเข้าใจกับประชาชน และอาศัยช่วงเวลานี้เร่งสื่อสารทำความเข้าใจให้ เกิดความเชื่อมั่นเพื่อไม่ให้เกิดความกังวลโดยประชาชนสามารถดำเนินชีวิตและทำธุรกิจในช่วงที่มีการระบาดอย่างปลอดภัย โดยหอการค้าไทย รวมถึงสถาบันทางวิชาการ ภาคเอกชนยินดีช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน
“การสื่อสารเรื่องจำนวนการจัดหาวัคซีนควรจะชัดเจนตามแผนการจัดหาวัคซีน โดยในเดือนกันยายนนี้เริ่มจะมีปริมาณมากขึ้น จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจและกระจายวัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้ประชาชน ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนของโครงการไทยร่วมใจในพื้นที่ กทม. คาดว่าจะมีการเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมเพื่อเก็บตก ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดเข็มที่สอง” นายสนั่น กล่าว
สำหรับมาตรการการเปิดดำเนินการ COVID FREE SETTING ของภาครัฐ ทั้งในเรื่องการจัดเตรียมสถานประกอบการให้ได้ตามมาตรฐาน การฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ หรือการมีผลตรวจ ATK นั้น ครั้งนี้เป็นมาตรการขอความร่วมมือที่ไม่ได้บังคับเต็มรูปแบบ เนื่องจากความไม่พร้อมหลายอย่าง และมีปัญหาด้านการควบคุมมาตรการต่างๆ ดังนั้นควรมีการจัดการวางรูปแบบการจัดการที่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะเรื่อง ATK ในราคาให้เหมาะสม และรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่เชื่อถือได้
นอกจากนั้น ในเรื่องระบบ Digital Health Pass ที่ภาคเอกชนนำเสนอ เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดนั้น หากภาครัฐจะใช้ระบบของกระทรวงสาธารณสุข หรือระบบหมอพร้อมเป็นหลัก ก็ควรวางแผนเพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมากและเชื่อมข้อมูลกับต่างประเทศให้ได้ แต่หากระยะแรก ระบบไม่สามารถรองรับการใช้งานจำนวนมากได้ ก็ควรใช้เฉพาะบางกิจการที่มีความเสี่ยงหรือบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ซึ่งภาครัฐควรมีการวางแผนเตรียมการระยะยาว เพื่อให้รองรับการใช้งานให้ได้หลายกรณีรวมถึงครอบคลุมถึงคนต่างชาติด้วย
“หอการค้าไทยเชื่อว่า ทุกฝ่ายกำลังพยายามทำงานกันอย่างหนัก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ แต่หากมีการระบาดเพิ่มขึ้นมาอีกรอบ ก็ควรพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่อย่างรอบคอบ และควรกำหนดการปิดพื้นที่เป็นโซน ไม่ควรกำหนดปิดทั้งจังหวัด เช่น ปิดเป็นบางเขต บางอำเภอ หรือปิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็น Super spreader เท่านั้น โดยพื้นที่ที่ควรเน้นการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ตลาด โรงงาน และแคมป์คนงาน” นายสนั่น กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ย. 64)
Tags: สนั่น อังอุบลกุล, หอการค้าไทย, เศรษฐกิจไทย