ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,942 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,549 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,110 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 277 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 6 ราย มาจากกัมพูชา 3 ราย (ช่องทางธรรมชาติ 1 ราย) และมาเลเซีย 3 ราย (ช่องทางธรรมชาติทั้งหมด)
- ส่วนผู้ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK 2,407 ราย
- เสียชีวิต 257 ราย เป็นชาย 135 ราย หญิง 122 ราย อายุเฉลี่ย 68 ปี (2-100 ปี) โดยมีสัดส่วนผู้ที่อายุเกิน 60 ปี 181 ราย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 50 ราย รวมเป็น 89% ไม่มีประวัติป่วยโรคเรื้อรัง 25 ราย คิดเป็น 19% อยู่ในกรุงเทพฯ มากสุด 57 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,265,082 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 20,351 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 12,631 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 155,134 ราย อาการหนัก 4,741 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,004 ราย
จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,835 ราย สมุทรปราการ 1,570 ราย ชลบุรี 955 ราย สมุทรสาคร 895 ราย ราชบุรี 502 ราย นนทบุรี 468 ราย ระยอง 446 ราย นราธิวาส 341 ราย นครปฐม 340 ราย และ นครราชสีมา 296 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 220,616,345 ราย เสียชีวิต 4,566,961 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 40,703,674 ราย อันดับ 2 อินเดีย 32,944,691 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,856,060 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,975,174 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 6,904,969 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 29
“สถานการณ์ในประเทศช่วง 1 เดือนที่ผ่านมมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป โดยไม่ได้บังคับแต่ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าว
อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า การจัดหาวัคซีนไม่มีเรื่องเงินทอน ถึงแม้ขณะนี้จะมีปริมาณวัคซีนมากขึ้นแต่ตลาดยังเป็นของผู้ขาย การเซ็นสัญญาที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องไม่ปกติ โดยไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าจะได้รับส่งมอบเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าไหร่ และมีข้อกำหนดจากผู้ผลิตที่ห้ามเปิดเผยสัญญา แต่การดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมาย มีการส่งสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และผ่านความเห็นของจากคณะรัฐมนตรี
โดยในส่วนของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับคำยืนยันจากผู้บริหารฯ ว่าภายในปีนี้จะส่งมอบให้ครบ 61 ล้านโดส ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์นั้นจะมีการส่งมอบให้ 30 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ แต่มีแนวโน้มที่บริษัทฯ จะเริ่มส่งมอบให้เร็วขึ้นภายในเดือน ก.ย.นี้ ส่วนวัคซีนซิโนแวคนั้นยังมีประสิทธิผลที่ช่วยชีวิตประชาชนได้ หลังจากมีการศึกษาเรื่องฉีดวัคซีนไขว้ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ โดยมีการนำไปใช้ในประเทศเยอรมนี ซึ่งกระทรวงฯ จะมีการศึกษาแนวทางเพิ่มเติมไม่หยุดนิ่ง
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากย้อนไปดูการใช้งานวัคซีนซิโนแวคในช่วงเดือน ธ.ค.63-มี.ค.64 ที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์ G ใน จ.สมุทรสาคร สามารถช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ 90.5%, ในเดือน เม.ย.-พ.ค.64 เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Alpha ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ 90.7%, ในเดือน มิ.ย.64 เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Alpha ใน โรงพยาบาลที่ จ.เชียงราย สามารถช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ 82.87% และในเดือน มิ.ย.-ส.ค.64 เกิดการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Delta มีประสิทธิภาพ 75.0% จึงได้มีการฉีดไขว้กับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถสร้างภูมิต้านทานสายพันธุ์ดังกล่าวได้หลังจากฉีดไป 2 สัปดาห์ ซึ่งได้มีการฉีดไขว้วัคซีนไปแล้ว 2.5 ล้านคน มีผู้ที่ฉีดแล้วเสียชีวิต 1 ราย
โดยในช่วง 4 เดือนของปีนี้จะมีวัคซีนในการใช้งานเพิ่มขึ้น คือ ก.ย.จำนวน 17.3 ล้านโดส, ต.ค.จำนวน 24 ล้านโดส, พ.ย.จำนวน 23 ล้านโดส และ ธ.ค.จำนวน 28 ล้านโดส ทำให้ปีนี้มีวัคซีนใช้งานรวม 140 ล้านโดส
สำหรับการดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์นั้นถือว่ามีมาตรการที่ดีสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ โดยจากจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 27,216 ราย พบติดเชื้อ 85 ราย หรือคิดเป็น 0.31% รักษาหายแล้ว 20 ราย โดยผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าวได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้ว 77 ราย โดยเป็นวัคซีน COVISHIELD 12.90%, AstraZeneca 1.10%, Sinovac 0.81%, Johnson&Johnson 0.56%, Sinopharm 0.35%, Pfizer 0.25% และ Moderna 0.08%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., โควิด-19, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร