นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายไม่ไว้วางใจนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ว่า กรณีดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ที่กระทรวงฯ และบมจ.ไทยคม (THCOM) ต่างฟ้องร้องอ้างกรรมสิทธิ์หลังหมดสัญญาสัมปทานจนนำไปสู่การตั้งอนุญาโตตุลาการ
หลังจากนายชัยวุฒิ เข้ามารับตำแหน่งได้ขอเปลี่ยนแปลงตัวอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 คดีให้เป็นคนเดียวคือ อัยการสูงสุด ซึ่งขัดต่อกฎหมายที่กำหนดไว้ไม่ให้ถอดถอนอนุญาโตตุลาการที่ตัวเองตั้งไว้ก่อนหน้านี้ การตั้งอัยการสูงสุดที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการย่อมมีผลต่อการทำงานของอัยการคนอื่นๆ เนื่องจากเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา และมีข้อปฏิบัติที่ต้องรายงานการทำงานให้ผู้บังคับบัญชารับทราบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลของคดีอื่นๆ ตามมาหากมีการโต้แย้งถึงความไม่เป็นกลาง
นอกจากนี้ อัยการสูงสุดได้ไปเรียนหลักสูตรนักบริหารระดับสูงของศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.ไทยคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคดีได้ ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดแจ้งขอเปลี่ยนตัวเป็นเลขานุการที่เคยปฏิเสธไปก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัวเป็นอดีตอธิบดีอัยการซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับผู้ถือหุ้นบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง
“สุดท้ายแล้วหากกระทรวงฯ ชนะคดีก็จะถูกคัดค้านที่เอาคนที่ไม่เป็นกลางมาดำเนินคดี ทำให้กระทรวงฯ มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง เกิดความเสียหาย 18,189 ล้านบาท”
นายรังสิมันต์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีกรณีดาวเทียมไทยคม 4 และ ดาวเทียมไทยคม6 ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 10 ก.ย.64 โดยมอบหมายให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นผู้ดำเนินการต่อ แต่กลับมีข่าวว่า NT จะไปจ้างให้ THCOM เข้ามาดำเนินการ ซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานจำแลงผูกขาดเหมือนเมื่อ 30 ปีก่อน เป็นการปิดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ และรายได้ลดลงจากปีละ 500 ล้านบาท เหลือแค่ 83 ล้านบาท โดย NT จะให้ THCOM เข้ามาบริหารต่อโดยจ่ายค่าตอบแทน 200 ล้านบาท ขณะที่ THCOM ส่งบริษัทลูกจ่ายค่าเช่า 283 ล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาคือ กระทรวงฯ ไม่มีการจัดทำแผนรองรับหลังสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 ก.ย.64 ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ใช้บริการ เช่น การแพร่ภาพของสถานีโทรทัศน์
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า สิ่งที่ รมว.ดีอีเอส ดำเนินการไปเพื่อทดแทนบุญคุณบริษัทเอกชนรายหนึ่งในช่วงที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไป 10 ปีหรือไม่ โดยบริษัทดังกล่าวได้เข้าซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) จนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส ก็เคยเป็นผู้บริหารของบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง และเมื่อปี 59 บริษัทเอกชนรายนี้เคยบริจาคเงิน 5 ล้านบาทให้มูลนิธิป่ารอบต่อ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
“รัฐมนตรีต้องการให้กิจการดาวเทียมเติบโต ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ หรือเข้ามาทำให้กลไกง่อยเปลี้ย เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นาย”
อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาในการอภิปรายของนายรังสิมันต์ได้มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลุกขึ้นประท้วงตลอดเวลา เนื่องจากมีการอภิปรายพาดพิงถึงบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้ถูกยื่นญัตติ มีการกล่าวหาใส่ร้ายผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า ธุรกิจดาวเทียมนั้นเป็นธุรกิจที่ถูกผูกขาดมานานกว่า 30 ปี การจะหาธุรกิจใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดประมูลแต่มีผู้ยื่นประมูลเพียงหนึ่งราย คือ บมจ.ไทยคม (THCOM) จึงได้มีการยกเลิกไปในภายหลัง และเมื่อดาวเทียมไทยคม 4 และ 6 ถูกส่งมอบให้รัฐบาล จึงได้มีการมอบหมายให้ NT เข้าไปบริหารดูแล ซึ่งไม่มีการเอื้อประโยชน์กับเอกชนรายใด
สำหรับกรณีกระแสสังคมที่ระบุว่ารัฐบาลใช้ข่าวปลอมในการต่อต้านกระแสสังคมนั้น ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้โซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์มที่ควบคุมได้ยาก จึงต้องมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 14 ขึ้นมา เช่นจะมีการดำเนินคดีหากมีการให้ข้อมูลเป็นเท็จที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เป็นต้น โดยมีการดำเนินการตามกระบวนการความยุติธรรม หรือศาลมาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดีการระงับข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด แต่มีการใช้เฝ้าระวัง และติดตามในกรณีที่มีการโซเชียลมีเดียในการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกรณีที่มีการใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนข้อมูลจากการชุมนุมที่สร้างความเกลียดชัง และความรุนแรงในสังคม อย่างไรก็ตามได้มีข่าวปลอมเรื่องการเมืองอยู่บ่อยครั้ง แต่ทางกระทรวงดิจิทัลไม่ได้มีการดำเนินคดีเอาผิดทุกครั้ง
“กระทรวงดิจิทัลทำหน้าที่เพื่อรักษาความสงบสุขในบ้านเมือง และรักษาสถาบันของชาติเท่านั้น ไม่มีการใช้เป็นเครื่องมือทางทางการเมืองแต่อย่างใด”
นายชัยวุฒิ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: THCOM, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, ดาวเทียมไทยคม, พรรคก้าวไกล, รังสิมันต์ โรม, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, ไทยคม