รัฐบาลผลักดันแผนผันน้ำโขงเข้ามาใช้พัฒนาพื้นที่ชลประทานภาคอีสาน 39 ล้านไร่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าแผนหลักการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ในการกำหนดขอบเขตเป้าหมายการพัฒนาของโครงการพัฒนาใช้น้ำภายในประเทศร่วมกับการพัฒนาใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง โดยมีพื้นที่ชลประทานเป้าหมาย 39 ล้านไร่ แบ่งเป็น การพัฒนาน้ำภายในประเทศร่วมกับการใช้น้ำโขง 34 ล้านไร่ และพัฒนาน้ำภายในประเทศ 5 ล้านไร่

แผนพัฒนามี 4 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การพัฒนาใช้น้ำสาขาของแม่น้ำโขง โดยการสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำสาขา เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง

ระยะที่ 2 การพัฒนาใช้น้ำโขงสู่ลุ่มน้ำข้างเคียง เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างและลุ่มน้ำข้างเคียง

ระยะที่ 3 การพัฒนาใช้น้ำโขงโดยแรงโน้มถ่วงสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (โครงการโขงเลย ชี มูล) เพื่อเสริมฝนทิ้งช่วง เติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเดิมที่มีปัญหา ลำน้ำ สระน้ำ หนอง บึง ให้มีน้ำทั้งปีและเป็นน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง

และระยะที่ 4 พัฒนาการใช้แม่น้ำโขงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย-สปป.ลาว) โดยพัฒนาโครงการเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากชม จ.เลย และเขื่อนพลังงานไฟฟ้าบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ สทนช.จะนำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาพิจารณาร่วมด้วย โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและเสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามแผนหลักการพัฒนา และสำหรับเป้าหมายพัฒนาที่ 4 ให้ สทนช. ในฐานะคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) ศึกษาความเหมาะสมโครงการร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และเจรจาทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน

ที่ประชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการตามภารกิจทั้ง 6 ด้าน โดยมีแผนงานที่มีความคืบหน้าเกิน 60% ได้แก่ น้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร สระน้ำในไร่นา โดยเฉพาะแหล่งน้ำชุมชน ที่มีผลการดำเนินงานแล้วถึง 91%

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายแผนงานที่มีผลการดำเนินงานค่อนข้างต่ำกว่าเป้าหมายในระยะ 5 ปีแรก อาทิ การพัฒนาขยายเขตให้บริการประปาเมือง พื้นที่เศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำสำรองหรือน้ำต้นทุน อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ระบบป้องกันชุมชนเมืองและเขื่อนป้องกันตลิ่ง เป็นต้น จึงได้ขอให้มีการเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อเสนอ กนช. พิจารณาครั้งถัดไป ก่อนรายงานให้ ครม. ทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ

พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานผลสัมฤทธิ์ของโครงการด้านแหล่งน้ำตามตัวชี้วัดของแผนแม่บทฯ น้ำ ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก่อน สทนช. นำเข้าข้อมูลสู่ระบบติดตามประเมินผลด้านน้ำของประเทศไทย หรือ Thai Water Assessment (TWA) แล้วจึงให้หน่วยงานรายงานผลในระบบเพื่อติดตามประเมินผลแบบ Real time ต่อไป

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการร่างรายงานตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านน้ำ SDG 6.4 ของประเทศไทย รวมถึงเห็นชอบในหลักการการบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ และให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติโดยกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้มีการรายงานผลการขับเคลื่อนให้ สทนช. ทราบ เพื่อเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนรายงานต่อองค์การสหประชาชาติ (UN)

“รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการขับเคลื่อนแผนแม่บทน้ำแต่ละด้านให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประกอบด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนแม่บททุกระดับ และเสนอต่อ กนช. โดยเร็วต่อไป” 

นายสมเกียรติ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top