เพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ย้ำกำหนดนัดชุมนุมใหญ่แยกราชประสงค์ “ยืนยันเพดาน โค่นล้มทรราช พิฆาตศักดินา” เย็นวันนี้เวลา 16.00 น. โดยไม่ใช่ความรุนแรง พุ่งเป้าขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมปฏิรูปทุกสถาบัน เพื่อรื้อถอนปัญหาทั้งปวง
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ถือเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่สามแล้วของประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากผลอภิปรายออกมาว่า ประยุทธ์ได้รับการไว้วางใจจากเสียงในสภา เราก็จะมีนายกฯ คนเดิม แบบไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ไม่ปรับครม. เตรียมเริ่มต้นปีที่ 8 กับรัฐบาลเผด็จการที่มีนักแสดงนำเป็นประยุทธ์ต่อไป แต่หากผลอภิปรายออกมาเป็นว่า ไม่ไว้วางใจให้ประยุทธ์และรัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อ หลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น?”
แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระบุ
เพจแนวร่วมฯ ระบุอีกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากเก้าอี้นายกฯ หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ได้ ยังคงเป็นไปได้ยากที่จะมีการยุบสภา เนื่องจากหากยุบสภาจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ (หรือมีเพิ่มเติมเหตุผลอื่น) ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งสามารถเป็นไปได้โดยการเลือกจากรายชื่อเดิมที่มีอยู่ ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องอาศัยเสียงจาก ส.ส.กับ ส.ว.รวมกัน 376 เสียง หรือไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา
หากเป็นแนวทางนี้ จะทำให้ชื่อของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ประกอบไปด้วย 1.นายชัยเกษม นิติศิริ จากพรรคเพื่อไทย และ 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข จากพรรคภูมิใจไทยเท่านั้น เนื่องด้วยว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ออกไปก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็มีความประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ลาออกจากการเป็น ส.ส.ไปแล้ว
แต่หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในสมการ และแคนดิเดตในรายชื่อก็มีจำกัดเช่นนี้ หรือไม่เข้าตาสภาฯ ไม่ถูกใจประชาชน และไม่เหมาะสมที่จะรับมือปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญ จะนำไปสู่การเลือกนายกฯ นอกบัญชีแคนดิเดตที่มี โดยขั้นตอนจะมีดังนี้
1. ส.ส. และ ส.ว. ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภา เข้าชื่อเพื่อขอให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีของแต่ละพรรคการเมืองได้
2. ส.ส. และ ส.ว. มีประชุมร่วมกัน และลงมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา เพื่ออนุมัติการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก
3. ส.ส. และ ส.ว. มากกว่าครึ่งหนึ่งของรัฐสภาลงมติเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และเท่ากับว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก นายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็น่าจะมาจากการตัดสินใจของคนกลุ่มเดิมในระบอบประยุทธ์
นอกจากนั้น เพจแนวร่วมฯ ยังระบุเหตุผลว่าควรเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธีมากกว่าความรุนแรง แม้หลายคนเชื่อว่า ความรุนแรงสามารถสร้างแรงกดดันที่สูง และสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริง การเก็บข้อมูลจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั่วโลกในช่วงปี ค.ศ.1900-2006 กว่า 323 ขบวนการ พบว่า ขบวนการที่ยึดมั่นในสันติวิธีประสบความสำเร็จ โดยข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนองกว่า 53% ขณะที่ขบวนการที่ใช้ความรุนแรง ประสบความสำเร็จเพียง 26% เท่านั้น
หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี รัฐมีโอกาสการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมไม่ต่างกัน แต่ในความเป็นจริง จากการศึกษาพบว่าขบวนการที่ใช้ความรุนแรง มีแนวโน้มจะถูกสังหารหมู่กลับจากภาครัฐสูงถึง 60% ขณะที่ขบวนการที่ใช้สันติวิธีมีโอกาสถูกใช้ความรุนแรงกลับจากภาครัฐเพียง 23%
หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าขบวนการจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ รัฐไทยก็สามารถหาข้ออ้างใช้ความรุนแรงได้อยู่ดี แต่ในความเป็นจริง แม้ไม่อาจรับประกันได้ว่าผู้ใช้สันติวิธีจะไม่ถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากฝ่ายตรงข้าม แต่การใช้สันติวิธีจะรักษาความชอบธรรมแก่ขบวนการเคลื่อนไหว และลดทอนการใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรมจากรัฐ ขณะที่การใช้ความรุนแรงของขบวนการเคลื่อนไหวจะเปิดช่องให้ภาครัฐใช้ความรุนแรงอย่างชอบธรรม รวมถึงการออก “ใบอนุญาตในการสั่งฆ่า” (License to Kill) เพื่อใช้ความรุนแรงอย่างมหันต์ได้
หลายคนเชื่อว่า สันติวิธีคือการนิ่งเฉย สยบยอมต่ออำนาจรัฐเมื่อมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม แต่ในความเป็นจริง การใช้ปฏิบัติการสันติวิธีไม่ใช่การอยู่เฉย หรือการไม่ทำอะไรเลย การใช้สันติวิธีเป็นการกระทำ (Action) ซึ่งมีรูปแบบหลากหลาย ดังกรณีการศึกษาของ Gene Sharp ที่เคยเสนอวิธีปฏิบัติการไร้ความรุนแรงในการต่อต้านกับภาครัฐไว้มากถึง 198 วิธี
หลายคนเชื่อว่า ยุทธวิธีการเคลื่อนไหว ไม่ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของผู้เห็นด้วยกับขบวนการ แต่ในความเป็นจริงการใช้ความรุนแรงมีโอกาสบั่นทอนแนวร่วม และยากแก่การโน้มนาวชักจูงผู้คนให้เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง ขณะที่สันติวิธีเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่มีสมรรถภาพในการโน้มน้าวชักจูงผู้คน ทั้งฝ่ายที่เป็นกลาง และฝ่ายตรงข้ามให้หันมาสนใจ กระทั่งเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวได้
หลายคนเชื่อว่า ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี ผลลัพท์สุดท้ายก็คือการได้ประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริง ผลลัพธ์และวิธีการในการไปสู่ผลลัพธ์ทางการเมืองนั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยสมบูรณ์ ผลลัพธ์ที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวด้วยแนวทางสันติวิธี เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน มีแนวโน้มจะเป็น “ประชาธิปไตยที่ลงหลักตั้งมั่น” มากกว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ความรุนแรง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผู้ชุมนุม, ม็อบ, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม