นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ในประเทศไทยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้วยการที่เชื้อโรคโควิด 19 มีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมและกลายพันธุ์จนเกิดเป็นสายพันธุ์อัลฟา (Alpha) และเดลตา (Delta) ซึ่งเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่นี้แพร่ระบาดง่ายและก่อให้เกิดอาการรุนแรง โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ คนชรา ผู้ที่มีโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19
การที่ประเทศไทยจะก้าวพ้นวิกฤติการระบาดของโรคติดต่ออันตรายไปได้นั้น นอกจากจะต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคอย่างเหมาะสมแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วย “ลดป่วยรุนแรง ลดตาย รักษาหายเร็ว” ดังนั้น กรมฯ จึงประสานขอความร่วมมือจาก อสม. ทีมนักรบเสื้อเทา ร่วมสำรวจและติดตามการฉีดวัคซีนของกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยาก ประกอบด้วย กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป/ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง/หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 2.9 ล้านคน ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยอาศัยกลไก 3 หมอ ซึ่ง อสม.ในบทบาทของหมอคนที่ 1 ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมีบทบาทในการเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยงสังเกตอาการ อำนวยความสะดวกในการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 รวมทั้ง ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งเป็นหมอคนที่ 2 และประสานกับหมอคนที่ 3 คือ หมอครอบครัวที่โรงพยาบาลให้บริการฉีดวัคซีน และติดตามอาการไม่พึงประสงค์แก่กลุ่มเป้าหมาย
ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2564 อสม.ได้ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ และสนับสนุนกลุ่ม 608 ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ประมาณ 30% ของกลุ่มเป้าหมาย แบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 621,754 ราย กลุ่มผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค จำนวน 261,454 ราย และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 3,593 ราย (ข้อมูลจาก www.thaiphc.net วันที่ 3 กันยายน 2564) และเมื่อดำเนินการฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ครบถ้วนแล้ว ลำดับถัดไป อสม.ก็จะดำเนินการติดตาม สำรวจ ประชาชนในกลุ่มอายุ 18-59 ปี ให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต่อไป
นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในการส่งเสริมให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 นอกจากวัสดุ อุปกรณ์ หรือกำลังคน องค์ความรู้ในการปฏิบัติงานก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยให้การดำเนินงานเกิดผลสำเร็จ ซึ่งกรมฯ ได้ให้การสนับสนุนชุดความรู้ผ่านเครือข่าย อสม.อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดได้จัดทำชุดความรู้ แนวคิด Universal Prevention ป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาล ส่งต่อให้ อสม.นำไปใช้ให้เกิดความพร้อมในการปฏิบัติงานทั้งในด้านการดูแลตนเอง เกิดการตั้งสติคิดว่าทุกคนคือผู้ติดเชื้อ เพิ่มความระมัดระวังขณะปฏิบัติงานหรือใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง และความพร้อมในฐานะหมอคนที่ 1 ซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือชุมชน (Community Isolation) มีการเตรียมความพร้อมของตัวเองทั้งร่างกาย จิตใจ องค์ความรู้เรื่องโควิด 19 และวัสดุอุปกรณ์ ซึ่ง อสม.จะมีการนำแนวคิดในการป้องกันการติดเชื้อโควิดแบบครอบจักรวาลไปรณรงค์ให้ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ได้ปฏิบัติตามด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ฉีดวัคซีน, ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์, ภานุวัฒน์ ปานเกตุ, วัคซีนต้านโควิด-19, อสม., โควิด-19