นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารงานสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด ไม่มีความโปร่งใสในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 และไม่เข้าร่วมโครงการ COVAX ส่งผลให้ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนหลัก
ทั้งนี้ การทูตวัคซีนครั้งแรกเริ่มในดือนพ.ย. 63 โดยประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 60 ราย ในช่วงนั้นเบื้องหน้ารัฐบาลกล่าวว่าได้ทำงานเต็มที่ ไม่ต้องขอวัคซีนจากใคร และวัคซีนชนิดเดียวที่สามารถจัดหาได้คือวัคซีนซิโนแวค อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ส.ค. 63 มีเอกสารจากทางบริษัทไฟเซอร์ที่ระบุแจ้งหน่วยงานในต่างประเทศของไทย ว่าไม่ได้รับการตอบกลับจากกรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทั้งที่มีการติดต่อกันตั้งแต่เดือนก.ค. และในวันที่ 19 พ.ย. 63
โดยบริษัทไฟเซอร์ ได้เตือนสถานทูตไทยให้ประเทศไทยรีบจองวัคซีน และให้เร่งพิจารณาภายในปี 63 เนื่องจากวัคซีนเป็นที่ต้องการของทั่วโลก ในขณะที่รัฐบาลประเทศอื่น ๆ ดิ้นรนในการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ ทั้งนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่น ที่เดินทางไปยังบริษัทเพื่อติดต่อประธานไฟเซอร์โดยตรง หรือนายกรัฐมนตรีประเทศอิสราเอล ที่โทรติดต่อประธานของบริษัทไฟเซอร์กว่า 30 ครั้ง
“รัฐบาลตั้งใจเทวัคซีนคุณภาพ หรือวัคซีนไฟเซอร์ทิ้งลงอ่าวไทย แทนที่รัฐบาลจะตามไฟเซอร์ แต่ไฟเซอร์กลับต้องมาตามประเทศไทยแทน”
นายพิธา กล่าว
ในส่วนของการติดต่อระหว่างประเทศไทยกับ COVAX ในวันที่ 10 พ.ย. 63 ได้มีการประชุมออนไลน์ร่วมกัน ในวันที่ 18 พ.ย. 63 ทาง COVAX ส่งอีเมลให้ประเทศไทยขอติดตามความคืบหน้า เนื่องจากใกล้หมดเวลาที่กำหนดไว้ แต่ประเทศไทยไม่มีการตอบรับทาง COVAX จึงได้ส่งอีเมลติดตามความคืบหน้าครั้งที่สอง ในวันที่ 9 ธ.ค. 63
ส่วนการทูตวัคซีนครั้งที่สอง เกิดขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. 64 ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 129 ราย โดยในวันที่ 22-26 เม.ย. 64 นายกรัฐมนตรีแถลงว่าขอให้ประชาชนมั่นใจว่าประเทศไทยมีวัคซีน 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 64 ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่าได้พบกับบริษัทผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย ซึ่งพร้อมจัดส่งวัคซีนให้ไทย แต่ภายหลังได้มีการติดต่อประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ และฝรั่งเศส เพื่อขอรับบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 ล้านโดสในเดือนพ.ค. 64 และขอรับบริจาคเพิ่มอีก 10 ล้านโดสภายในไตรมาส 3/64
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ที่ได้รับการติดต่อขอบริจาควัคซีน กล่าวว่าประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่แล้ว และชักชวนให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ COVAX เนื่องจากสหรัฐฯ จะบริจาควัคซีนผ่านโครงการ COVAX เท่านั้น เช่นเดียวกับประเทศฝรั่งเศสที่ติดต่อกลับมาว่าจะมีการบริจาควัคซีนผ่าน COVAX เท่านั้น แต่ประเทศไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX รวมถึงยังมีการบริจาควัคซีนให้โครงการดังกล่าวด้วย
ส่วนการทูตวัคซีนครั้งที่สามในเดือนมิ.ย. 64 ซึ่งขณะนั้นมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ 988 ราย โดยวันที่ 1 มิ.ย. 64 รัฐบาลไทยได้ติดต่อไปยังทำเนียบขาว สหรัฐฯ เพื่อให้แจ้งประธานบริษัทไฟเซอร์ให้ยกเว้น 1 ประเทศ 1 สัญญา เพื่อที่จะให้เจรจาได้ทั้ง 2 กระทรวง ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข โดยการส่งเอกสารในครั้งนี้ไม่มีโทรเลขจากกระทรวง หรือเป็นการแอบส่งเอกสาร แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการทำงานแบบไม่พูดคุย ปรึกษากัน และแก้ปัญหาที่ปลายทาง
ดังนั้นเมื่อการทูตวัคซีนไม่ประสบความสำเร็จ วัคซีนซิโนแวคจึงกลายเป็นวัคซีนหลักในไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพ และความเชื่อมั่นของวัคซีนในระดับต่ำ จากการที่ประธานบริษัทวัคซีนซิโนแวค เคยให้การในศาลว่ามีการติดสินบนรองหัวหน้าองค์การอาหารและยาในประเทศจีนเมื่อปี 59 รวมถึงมีการถูกฟ้องร้องจากสหรัฐฯ เนื่องจากมีการติดสินบนในประเทศจีน จากการทูตวัคซีนทั้ง 3 ครั้ง จึงสรุปได้ว่านายกรัฐมนตรีบริหารงานโดยไม่รอบคอบ ไม่มีความโปร่งใส และไม่ใส่ใจชีวิตของประชาชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ย. 64)
Tags: COVAX, การเมือง, จัดซื้อวัคซีน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, อภิปรายไม่ไว้วางใจ