เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลเมืองไทย ภายหลังจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค.64 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเกณฑ์และร่างประกาศ (Hearing) เกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ซื้อขายรวมถึงพัฒนาคุณภาพความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจ และการตีความหมายที่ถูกต้องของ Hearing ฉบับนี้จะเป็นอย่างไร และมีผลต่อผู้ลงทุนในคริปโทฯแง่มุมใดบ้าง ??
ตีความหมาย Hearing เก็บรักษาเงินและทรัพย์สินดิจิทัล
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ นักวิจัยกฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า จากการตีความหมายของเอกสารรับฟังความคิดเห็น (Hearing) เลขที่ อกต. 30/2564 เรื่อง “การปรับปรุงเกณฑ์และร่างประกาศเกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล” พบว่าสาระสำคัญของ Hearing ฉบับดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรกคือเงินสด (Fiat Currency) และส่วนที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptocurrency)
ใจความสำคัญของเงินสด (Fiat Currency) คือ การเก็บรักษาทรัพย์สินที่เป็นตัวเงิน โดยการดำเนินการถอนหรือโอนเงินในบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ให้เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจอนุมัติ หลักการมอบอำนาจลงนามแบบหลายบุคคล (multi-sign) และหลักการตรวจสอบถ่วงดุล ทำนองเดียวกับการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล
และส่วนที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Cryptocurrency) คือ ประเด็นการเก็บรักษาทรัพย์สินประเภทเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องไม่นำทรัพย์สินของลูกค้ารายหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายอื่นหรือบุคคลอื่นใด รวมทั้งต้องมีการสอบทานทรัพย์สินลูกค้าเพื่อความถูกต้องและเป็นปัจจุบันทุกวันทำการ และ ประเด็นการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปจัดหาประโยชน์ โดยห้ามนำเงินของลูกค้าไปหาดอกผลด้วยวิธีการอื่นนอกจากฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่สามารถตกลงกับลูกค้าเพื่อกำหนดอัตราดอกผลที่จ่ายให้แก่ลูกค้าได้โดยต้องไม่เกินอัตราที่ได้รับจริงจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ห้ามนำไปหาดอกผลซึ่งรวมถึงการให้บุคคลอื่นยืม
นายปรุงศักดิ์ ได้วิเคราะห์ถึงมุมมองที่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนในคริปโทฯว่า “ร่างประกาศฯ ฉบับนี้อาจจะเป็นการจำกัดเครื่องมือในการลงทุนของนักเทรดในประเทศไทย เมื่อเทียบกับนักเทรดทั่วโลก อาจนำไปสู่การขาดโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมของเหล่าผู้พัฒนา (Developer) และในฝั่งของผู้ประกอบการเอง ก็อาจโดนปิดกั้นโอกาสในการประกอบธุรกิจ เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในประเทศอื่น
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะทำการปิดรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 22 ก.ย.64 เป็นวันสุดท้าย โดยสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นกันได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Pages/PB_Detail.aspx?SECID=739&fbclid=IwAR0bNC2AWDVrxLZpHWJ6R-ggSWkaaizo7A8MFb0BeB8c7PVqeMvioniW2SY
สามารถติดตามรายละเอียดของมุมมองได้จากคลิปวิดีโอ https://youtu.be/zvFZAfOkZPk
โดย ดวงกมล คล่องบุญจิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 64)
Tags: Crypto Insight, Cryptocurrency, SCOOP, ก.ล.ต., คริปโตเคอเรนซี, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, สินทรัพย์ดิจิทัล