ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 12,892 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,688 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 217 ราย
- ติดเชื้อเข้าข่าย ATK 1,880 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 5 ราย มาจากกัมพูชา (ช่องทางธรรมชาติ) 2 ราย มาเลเซีย (ช่องทางธรรมชาติ) 1 ราย สหรัฐอเมริกา (โครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์) และ ฝรั่งเศส ประเทศละ 1 ราย
- เสียชีวิต 252 ราย เพศชาย 130 ราย เพศหญิง 122 ราย อายุ 21-99 ปี (อายุเฉลี่ย 66 ปี) โดยเป็นผู้สูงอายุ 166 ราย และมีโรคเรื้อรัง 60 ราย หญิงตั้งครรภ์ 1 ราย และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 25 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 1,219,531 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้วเพิ่มขึ้น 18,996 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 11,841 ราย
โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด 10 อันดับแรกของวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ 3,732 ราย, สมุทรปราการ 1,284 ราย, ชลบุรี 879 ราย, สมุทรสาคร 864 ราย, ระยอง 547 ราย, พระนครศรีอยุธยา 492 ราย, ราชบุรี 417 ราย, นครราชสีมา 333 ราย, ฉะเชิงเทรา 331 ราย นราธิวาส 313 ราย
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวม 218,541,072 ราย เสียชีวิต 4,533,622 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 40,114,099 ราย อันดับ 2 อินเดีย 32,810,892 ราย อันดับ 3 บราซิล 20,777,867 ราย อันดับ 4 รัสเซีย 6,918,965 ราย และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร 6,789,581 ราย ส่วนประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในอันดับที่ 29
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวย้ำถึงมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แนวใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย (Smart Control and Living with Covid-19)ว่า เป็นการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 สำหรับเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมให้ปลอดภัย ด้วยหลักการ COVID-Free Setting และ Universal Prevention สำหรัสถานที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงที่เริ่ม 1 ก.ย.นี้ เป็นการนำร่อง ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
“เพื่อให้การปรับมาตรการในครั้งนี้ เพื่อไม่ทำให้สถานการณ์แพร่เชื้อมากขึ้น โดยมาตรการค่อยเป็นค่อยไป ช้าหน่อย แต่มั่นคงและปลอดภัย”
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า 2 สัปดาห์นับจากนี้หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอาจต้องกลับมาล็อกดาวน์ ผู้ประกอบการก็จะได้รับความเดือดร้อนอีกครั้ง แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะมีการคลายล็อกมากขึ้นด้วย ดังนั้น ในส่วนของการแสดงดนตรีในร้านอาหารในช่วง 14 วันนี้จึงยังไม่อนุญาต เพราะที่ประชุมมีความเป็นห่วงในเรื่องของการรวมกลุ่มและความแออัด
“อะไรที่รอได้ ขอให้รออีก 2 สัปดาห์ จะเห็นมาตรการที่ผ่านคลายได้มากขึ้นแน่นอน”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้เป็นวันแรกที่รัฐบาลอนุญาตให้กิจการ กิจกรรม บางประเภทสามารถเปิดบริการได้ภายใต้มาตรการที่รัฐกำหนด และหลักการ COVID-Free Setting ในพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้และผ่อนคลายการใช้ชีวิตให้กับประชาชน โดยยังต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุด และให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการ Universal Prevention
อย่างไรก็ตามยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์หลังผ่อนคลายใน 2 สัปดาห์อย่างใกล้ชิด หากดีขึ้นรัฐบาลจะพิจารณาเปิดกิจการ กิจกรรมเพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติได้ต่อไป นอกจากนี้ขอให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดนัดหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง และหากป่วยจะช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น มีจำนวนผู้หายป่วยรายวันมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งมีแนวโน้มลดลง และจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลลดลงชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสนามบุษราคัมจากเคยมีผู้ป่วยมากกว่า 3,500 คน ลดเหลือ 1,500 คน ศูนย์นิมิบุตรมีผู้ป่วยรอส่งต่อเหลือไม่ถึง 70 คน ภาพรวมมีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมแล้ว 1,040,768 ราย จากผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,219,531 ราย วันนี้ มีผู้ที่หายป่วย 18,996 ราย ติดเชื้อรายใหม่ 14,802 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, ศบค., อภิสมัย ศรีรังสรรค์, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19